นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญ เพราะวันนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จะร่วมมือกันวิจัยแผนบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีเทคโนโลยีและการบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ และไม่สอดคล้องกับการรณรงค์ส่งเสริมว่าในอนาคตจะผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ.และนายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดี กรอ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
นายพัฒนา เปิดเผยว่า นับจากวันนี้ กฟผ.และกรอ.จะเริ่มศึกษาว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในการกำจัดซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่หลังสิ้นสภาพการใช้งานอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะแบตเตอรี่รถยนต์ เพื่อป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการศึกษาว่าจะนำแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว มาแปรรูปและนำกลับมาใช้อีกในอนาคตได้หรือไม่ คาดว่า จะใช้เวลาศึกษา 1 ปี ก่อนตั้งโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทยขนาดเล็ก โดย มีกรอ.ให้การสนับสนุนด้านข้อมูลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย ,ข้อมูลจากการพิจารณาแนวทางการเก็บรวบรวมซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่จากภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลจากการศึกษาทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมต่อการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย
ส่วนของ กฟผ. จะรับผิดชอบในการดำเนินงาน ศึกษาเทคโนโลยีการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เหมาะสมสำหรับประยุกต์ใช้กับโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย ,ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย ควบคู่กับการพิจารณาตามแนวทางการเก็บรวบรวมซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่จากภาคอุตสาหกรรมตามข้อมูล กรอ. และ ศึกษาเทคโนโลยีและแนวทางการบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ ที่อาจสามารถนำมาบูรณการกับโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย
ด้านนายประกอบ กล่าวถึง ตัวเลขซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทยว่าซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่จะเริ่มหมดอายุในการใช้งานปี 2565 ประมาณ 100 กว่าตัน ขณะที่ รัฐบาลก็มีแผนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ให้ได้ 15,574 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศให้ได้ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 ซึ่งจะทำให้เกิดซากเซลล์แสงอาทิตย์และอุปกรณ์ประกอบ และซากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าจำนวนมาก หากไม่รีบดำเนินการศึกษา หรือวางแผนรองรับที่เหมาะสม นอกจาก จะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศแล้ว ยังจะเป็นปัญหาอุปสรรคต่อแผนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยอีกด้วย