ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เกิดจากการกู้ยืมเงินและไม่สามารถชำระคืนได้จนกลายเป็นหนี้เสียส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ จากตัวเลขไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ครัวเรือนสูงถึงร้อยละ 148.8 และสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) อยู่ที่ร้อยละ 79.1 ซึ่งอยู่ในระดับสูง
วันนี้ ธปท.แสดงความกังวล ธปท. มองว่า เป็นปัญหาที่แก้ได้ยากและต้องใช้เวลานาน เสนอ 4 แนวทางแก้ไข ประกอบด้วย ภาครัฐต้องหลีกเลี่ยงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะทำให้ประชาชนสร้างหนี้เพิ่ม, ต้องเน้นส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมของครัวเรือนในช่วงก่อนเป็นหนี้ โดยเฉพาะการให้ความรู้ประชาชนเรื่องต้องไม่ใช้จ่ายเกินตัวและต้องสร้างวินัยการออมให้ประชาชน,การเน้นส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสม, การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เดิม เพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว หากอนาคตครัวเรือนเจอกับปัจจัยลบต่างๆ เช่น รายได้ลดลง จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้เกิดการเบี้ยวหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกร, ผู้เกษียณอายุ และผู้มีรายได้น้อยที่จัดเป็นกลุ่มเสี่ยง พบว่าปัจจุบันครัวเรือนไทยมีภาระหนี้ต่อเดือนสูง เพราะส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 42 ของหนี้ทั้งหมด เป็นหนี้เพื่อการบริโภคที่มีเวลาผ่อนสั้น แต่ดอกเบี้ยสูง
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. ระบุว่า ระบบการเงินไทยปี 2562 โดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ความเสี่ยงยังอยู่ในระดับสูง เพราะมีผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและไทยที่ชะลอตัว ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมานานมาเป็นปัจจัยเสี่ยง