ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 19.30 น.วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2563

16 มกราคม 2563, 21:04น.



โฆษกรัฐบาล ประชุมเพิ่มความเข้มข้นแผนประชาสัมพันธ์แก้ฝุ่น PM 2.5



          นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เวลา 13.30 น.วันที่ 17 ม.ค.จะเป็นประธานหารือการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และมาตรการแก้ไข ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมการขนส่งทางบก กองบังคับการตำรวจจราจร กทม. จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ กรมทางหลวง กรมอนามัย กรมอุตุนิยมวิทยา เข้าร่วม เพื่อกำหนดแนวทางนโยบายประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนถึงการดำเนินการของรัฐบาลในการแก้ปัญหา การป้องกันและการดูแลประชาชน รวมถึงการเผยแพร่มาตรการต่างๆ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการควบคุมมลพิษ ยกระดับการแก้ไขปัญหา ที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ในวันที่ 21 ม.ค.ที่ จ.นราธิวาส เนื่องจากนายกรัฐมนตรี ต้องการให้เพิ่มความเข้มข้นในการประชาสัมพันธ์ การสื่อสารที่ชัดเจนไปถึงประชาชน และสร้างความเข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ในขณะนี้




พล.อ.ประวิตรเตรียมประชุมครม.นอกสถานที่ จ.นราธิวาส 20-21 ม.ค.



         พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เตรียมการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่จ.นราธิวาส ระหว่างวันที่ 20-21 มกราคมนี้ ว่า เป็นเรื่องการดูแลความปลอดภัยรัฐมนตรีในการลงพื้นที่ไปตรวจราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประเด็นสำคัญของการตรวจราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ การส่งเสริมการศึกษาการค้าการลงทุน การค้าชายแดนการพัฒนาโครงการคมนาคม การพัฒนาโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ การวางระบบป้องกันสาธารณภัย การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและเชิงวัฒนธรรม การพัฒนาสินค้าเกษตร ยางพาราและการพัฒนาตลาดอย่างเป็นระบบครบวงจร รวมถึงการรักษาความสงบความปลอดภัยของประชาชน



         เช้าวันจันทร์ที่ 20 ม.ค. 2563 นายกฯและคณะจะเข้าสักการะเจ้าแม่โต๊ะโมะ พบประชาชนที่เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก นมัสการเจ้าคณะจังหวัดนราธิวาส และพบประชาชนชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม ที่วัดประชุมชลธารา ร่วมพูดคุยกับผู้นำศาสนาและชาวไทยมุสลิมที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส ส่วนวันที่ 21 ม.ค. 2563 จะประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ โดยก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีจะประชุมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา




หุ้นไทย ดีดตัวขึ้น 14.82 จุด หลังจากรองนายกฯ เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ




          การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ปิดที่ 1,595.87 จุด เพิ่มขึ้น 14.82 จุด มูลค่าการซื้อขาย 62,143.54 ล้านบาท นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าที่คาดไว้ และดีกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่เคลื่อนไหวในแดนบวกไม่มาก หลังจากที่มีการลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งมองเป็นปัจจัยบวก แต่ตลาดบ้านเราน่าจะขึ้นตอบรับการแสดงความคิดเห็นของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าจะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ให้อยู่ในระดับสูง โดยในครึ่งปีแรกจะเบิกจ่ายร้อยละ 54 และในไตรมาส 3 สิ้นสุดมิ.ย.2563 ตามปีงบประมาณ ก็จะเบิกจ่ายร้อยละ 70 ปัจจัยดังกล่าวนี้ส่งผลบวกต่อ หุ้นกลุ่ม Domestic plays เห็นได้จากกลุ่มแบงก์ และกลุ่มรับเหมาฯ ที่ขยับขึ้นมา และต้องติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน และให้ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจงวดไตรมาส 4/62 ของประเทศต่าง ๆ ทั้งจีน, เกาหลี เป็นต้น และในช่วงปลายเดือนก็ติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)



          การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ดัชนีนิกเกอิ ตลาดหุ้นโตเกียว ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 16.55 จุด ปิดที่ 23,933.13 จุด ขานรับสหรัฐฯ-จีน ลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรก



          ดัชนีฮั่งเส่ง ฮ่องกง ขานรับเรื่องข้อตกลงที่ระบุว่าจีนจะสั่งซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ขณะที่สหรัฐฯตกลงที่จะปรับลดภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางการค้าที่ส่งผลกระทบต่อตลาดโลกมาเกือบสองปี ดัชนีฮั่งเส็ง เพิ่มขึ้น 109.45 จุด ปิดที่ 28,883.04 จุด



ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ ชี้แม้สหรัฐฯ-จีน ลงนามเฟส 1 แต่ส่งออกไทยยังเผชิญความไม่แน่นอน 



          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้ว่าสหรัฐฯและจีน จะลงนามข้อตกลงการค้า เฟส 1 แล้ว แต่ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนยังคงมีความไม่แน่นอนสูง และน่าจะไม่จบในระยะอันใกล้ โดยสถานการณ์ที่จะมีผลต่อไทย ท่ามกลางบรรยากาศที่เหมือนจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากการบรรลุความตกลงทางการค้าตามที่หลายฝ่ายคาดหวังแต่เงื่อนไขทางการเมืองในฝั่งสหรัฐฯในช่วงเวลาใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯนี้ นับเป็นจุดอ่อนไหวที่ต้องจับตาอย่างมาก เพราะสงครามการค้าอาจถูกใช้เป็นหมากสำคัญในเกมการเมือง มีผลให้ความตกลงระหว่างทั้งสองประเทศพร้อมเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา



          นอกจากนี้ มองว่า การส่งออกของไทยคงต้องเผชิญความไม่แน่นอนตลอดปี ทั้งผลจากภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าอย่างสหรัฐฯกับจีน รวมถึงผลกระทบทางตรงจากสงครามการค้าที่มีส่วนบรรเทาเบาบางลงตามการลดภาษีของสหรัฐฯ ต่อสินค้าจีนบางรายการ ทำให้ผลจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนเหลือ 600 ล้านดอลลาร์ฯ เท่านั้น จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 1,000-2,500 ล้านดอลลาร์ฯ



          อย่างไรก็ดี มีความเสี่ยงที่ไทยจะได้รับผลกระทบทางอ้อมที่เกิดจากเงื่อนไขที่จีนต้องให้น้ำหนักกับการนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นใน 2 ปี ข้างหน้า ซึ่งแน่นอนว่าสินค้าเกษตรของไทยที่เกี่ยวข้องหลักๆ มีเพียงถั่วเหลืองเท่านั้นที่อาจเผชิญผลทางด้านราคาที่สูงขึ้นเมื่อต้องนำเข้าจากสหรัฐฯ หรืออาจต้องหาแหล่งนำเข้าสำรอง แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังอย่างมากหลังจากนี้เป็นสินค้าอื่นที่ถูกนำมาระบุเพิ่มเติมในข้อตกลง ซึ่งในประเด็นนี้จีนเองคงต้องให้น้ำหนักในการเร่งนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ แต่ขณะเดียวกันก็คงต้องลดการนำเข้าจากแหล่งอื่น โดยสินค้าไทยที่เกี่ยวข้องอยู่ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์มีความเสี่ยงที่ไทยอาจต้องสูญเสียตลาดจีน



          คะแนนนิยมของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่ามีความแข็งแกร่งมากเพียงใด และผลจากข้อตกลงทางการค้าส่งผลให้ฐานเสียงของสหรัฐฯ ได้รับประโยชน์มากเพียงใด ซึ่งหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนแรงและฐานเสียงของนายทรัมป์ไม่ได้ผลประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าเท่าที่ควร คะแนนนิยมของนายทรัมป์อาจจะไม่ดีนัก ดังนั้น นายทรัมป์อาจเพิ่มแรงกดดันให้จีนทำตามข้อตกลงมากขึ้น เพื่อให้มีผลงานก่อนการเลือกตั้ง



          สหรัฐฯ และจีน ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้า เฟส 2 ได้ในระยะเวลาอันใกล้ โดยสหรัฐฯ น่าจะยังคงภาษีนำเข้าสินค้าจีนในระดับสูง เพื่อบีบให้จีนทำตามข้อตกลงไปจนกว่าจะเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งจะส่งผลให้น่าจะไม่มีการลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่ขึ้นไปก่อนหน้า ไปจนถึงช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้าเป็นอย่างน้อย ดังนั้น ผลกระทบของภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่อยู่ในระดับสูงน่าจะยังคงอยู่ และจะยังคงสร้างแรงกดดันต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตในสหรัฐฯ



          ในทางตรงกันข้าม หากสถานการณ์ในภาพรวมปูทางให้นายทรัมป์มีโอกาสชนะการเลือกตั้ง พร้อมกับภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีศักยภาพเพียงพอรับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจภายนอกได้ ก็อาจทำให้เรื่องสงครามการค้าทยอยคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งสหรัฐฯ และจีนก็น่าจะหันมาอะลุ่มอล่วยเรื่องความคืบหน้าของข้อตกลงใน Phase 1 และมีโอกาสที่จะร่วมกันก้าวเดินต่อไปเพื่อหาทางออกในการลดภาษีสินค้าที่เหลือในระยะที่ 2 (Phase 2) ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2564



คาดพรุ่งนี้เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 30.40บาท/ดอลลาร์



          นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 30.34 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่า จากเปิดตลาดเช้าอยู่ที่ระดับ 30.26/27 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 30.27 - 30.34 บาท/ ดอลลาร์ บาทกลับมาอ่อนค่าในช่วงบ่าย หลังมีแรงซื้อดอลลาร์เข้ามามากขึ้น พรุ่งนี้ คาดว่าบาทมีโอกาสอ่อนค่าไปทดสอบที่ระดับ 30.40 บาท/ดอลลาร์



แผ่นดินไหวขนาด 4.2 นอกชายฝั่งโอกินาวา ญี่ปุ่น



          สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น รายงานว่า เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 4.2 นอกชายฝั่งโอกินาวา เมื่อเวลา 16.36 น.ตามเวลาไทย ขณะที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ระดับความลึก 10 กม. ไม่มีคำเตือนคลื่นยักษ์สึนามิยังไม่มีรายงานความเสียหาย ผู้เสียชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว



พรรครัฐบาลรัสเซียลงมติสนับสนุน 'มิคาอิล มิซูสติน' เป็นนายกฯคนใหม่



          พรรคยูไนเต็ด รัสเซีย ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลมีมติพรรคเสนอชื่อนายมิคาอิล มิซูสติน (Mikhail Mishustin) อายุ 53 ปี เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในบ่ายวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อลงมติรับรองเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และคาดว่าสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคยูไนเต็ด รัสเซียครองเสียงข้างมาก จะลงมติสนับสนุน ทั้งนี้ สื่อหลายแห่งวิจารณ์ว่านายมิซูสติน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี และแทบไม่มีผลงานที่โดดเด่นทางการเมือง แต่การที่เขาเป็นบุคคลที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เสนอชื่อเข้าสู่ที่ประชุมพรรค จึงอาจเป็นการอยู่ในตำแหน่งระหว่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีดมิตรี เมดเวเดฟ และคณะรัฐมนตรีประกาศลาออกเมื่อวานนี้ (15 ม.ค.)  เพื่อเปิดทางให้ประธานาธิบดีปูติน อายุ 67 ปี ผลักดันแผนแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เขาอยู่ในอำนาจได้ต่อไป หลังการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 4 สิ้นสุดลงในปี 2567 โดยประธานาธิบดีปูติน ครองอำนาจทางการเมืองรัสเซียมาตลอด 20 ปี โดยเคยดำรงตำแหน่งทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี



แฟ้มภาพ 



 

ข่าวทั้งหมด

X