ผ่านวันที่ 3 ในการสรุปการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถิติอุบัติเหตุลดลงเมื่อเทียบกับวันเดียวกันนี้ของปีที่แล้ว
พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่าในวันที่ 29 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่สามของการรณรงค์ ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร เกิดอุบัติเหตุ 531 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 47 ราย ผู้บาดเจ็บ 560 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 31.83 ขับรถเร็ว ร้อยละ 30.89 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.55 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง รองลงมาเป็นถนนกรมทางหลวง และถนนใน อบต./หมู่บ้าน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ นครปฐม จังหวัดละ 25 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 5 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครปฐม 31 คน
ทั้งนี้ สถิติการเกิดอุบัติเหตุในวันที่ 3 ของช่วง 7 วันอันตรายในปีนี้ถือว่าลดลงจากวันที่ 29 ธันวาคม 2561 ที่มีจำนวนอุบัติเหตุ 643 ครั้ง จำนวนผู้เสียชีวิต 83 ราย บาดเจ็บ 667 คน
สำหรับสรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ 27 - 29 ธันวาคม 2562 เกิดอุบัติเหตุรวม 1,504 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 159 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 1,549 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 21 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ ลำปาง 48 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดละ 10 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครปฐม 56 คน
พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ ระบุด้วยว่ารู้สึกพอใจจากอุบัติเหตุที่ตัวเลขลดลงกว่าปีที่แล้วซึ่งมองว่าได้รับความร่วมมือกับประชาชนและการบูรณาการของทุกภาคส่วน แต่ก็ย้ำว่าเจ้าหน้าที่ยังคงทำงานอย่างเข้มข้น ทั้งจุดประจำจุดตรวจดูแลเส้นทางสายหลัก – สายรองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีสถิติอุบัติเหตุสูง เน้นการปรับแผนการจัดตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจให้สอดคล้องกับสถานการณ์อุบัติเหตุ นอกจากนี้ ได้จัดชุดสายตรวจดูแลความปลอดภัยเส้นทางโดยรอบสถานที่จัดงานรื่นเริง และสถานบันเทิง ในช่วงเวลา 23.00 – 02.00 น. เป็นพิเศษ เน้นกวดขันผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงดื่มแล้วขับ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี หากเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับ ให้ดำเนินคดีและขยายผลการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ปกครองและผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง
...