สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ รับรอง 'เจ้าพระยา-แม่ปิง' เป็นชื่อดาวฤกษ์และดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ

29 ธันวาคม 2562, 08:13น.



          “เจ้าพระยา - แม่ปิง” ชื่อดาวฤกษ์และดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ของขวัญส่งท้ายปี จากคะแนนโหวตชาวไทยสู่ความเป็นหนึ่งในเอกภพ



          ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สดร. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (IAU)ได้ประกาศให้ชื่อ “เจ้าพระยา (Chaophraya) – แม่ปิง (Maeping)” เป็นชื่อของดาวฤกษ์แม่ WASP-50 และดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ WASP-50b อย่างเป็นทางการ ตามที่ สดร. จัดกิจกรรม “ตั้งชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ชูความเป็นไทยร่วมเป็นหนึ่งในเอกภพ” โดยเปิดโอกาสให้คนไทยร่วมเสนอชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ WASP-50b และดาวฤกษ์แม่ WASP-50 ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม 2562 จากนั้นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ร่วมพิจารณาคัดเลือกจากจำนวนชื่อที่เสนอเข้ามามากกว่า 1,500 ชื่อ ให้เหลือเพียง 3 รายชื่อสุดท้าย เพื่อให้ประชาชนร่วมโหวตชื่อที่ถูกใจที่สุด ตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม 2562 ภายใต้เงื่อนไข 1 คน 1 สิทธิ์โหวต ชื่อที่มีคะแนนโหวตสูงสุด ได้แก่ “เจ้าพระยา (Chaophraya) – แม่ปิง (Maeping)” ลำดับถัดมาได้แก่ ฟ้าหลวง (Fahluang) - ฟ้าริน (Fahrin) และ ประกายแก้ว (Prakaikaeo) - ประกายดาว (Prakaidao) จากผู้ร่วมโหวตทั้งสิ้นกว่า 4,000 คน จากนั้น สดร. ได้นำชื่อ “เจ้าพระยา-แม่ปิง” ในฐานะชื่อที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุด เสนอต่อสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ และได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 ธันวาคม 2562 



          สำหรับชื่อ “เจ้าพระยา - แม่ปิง” เสนอโดย น.ส.ดวงรัตน์ วิเชียรศรี ต้องการสื่อถึงแม่น้ำสายสำคัญของไทย เนื่องจากดาวทั้งสองอยู่ในกลุ่มดาวแม่น้ำ โดยแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศซึ่งเกิดจากการไหลรวมของแม่น้ำ ปิง วัง ยม และน่าน ในอนาคตหากพบดาวเคราะห์ในระบบนี้เพิ่มเติมก็สามารถตั้งชื่อเป็นแม่น้ำสายอื่น ๆ ได้อีก




          กิจกรรม “ตั้งชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ” เป็นกิจกรรมที่ สดร. จัดขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ในกิจกรรม “The IAU100 NameExoWorlds” เปิดโอกาสให้ประเทศและดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลก มีส่วนร่วมในการตั้งชื่อระบบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ


          กิจกรรมครั้งนี้มีประเทศและดินแดนที่เข้าร่วมจากทั่วโลกรวมทั้งสิ้นถึง 112 แห่ง และผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั่วโลกกว่า 780,000 คน สร้างความตื่นตัวและทำให้ผู้คนทั่วโลกได้ตระหนักว่าเราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเอกภพอันกว้างใหญ่ อีกทั้งยังช่วยสร้างแนวคิดที่ชัดเจนสำหรับการตั้งชื่อให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อาจค้นพบในอนาคตด้วย


...


สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page
ข่าวทั้งหมด

X