ในช่วงการเฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เป็นผู้ชายก็ต้องระวังตัว แม้ว่า หลายคนจะคิดว่า การล่วงละเมิดทางเพศในผู้ชายมีโอกาสเจอน้อยกว่าผู้หญิง และเมื่อเจอแล้วผู้ชายน่าจะเข้มแข็งกว่าผู้หญิง แต่จากการเปิดเผยข้อมูลจาก น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ที่เล่าให้ฟังว่า จากประสบการณ์ที่มูลนิธิรับเรื่องมาแม้ผู้ชายจะถูกล่วงละเมิดทางเพศน้อยกว่าผู้หญิงอยู่เยอะก็จริง แต่กลับพบว่าผู้ชายแทบทุกคนที่ถูกล่วงละเมิดมีสภาพจิตใจไม่ต่างจากผู้หญิง คือมักรู้สึกกลัว, อาย, รู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่าไปจนถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า เช่นเดียวกับกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นราว 2 ปีแล้วที่เด็กผู้ชายลูกครึ่งหน้าตาดีคนหนึ่งถูกบุรุษพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งล่วงละเมิดทางเพศ
น.ส.อังคณา เล่าว่า เด็กผู้ชายท้องเสียและแพ้ยาของโรงพยาบาลเอกชนที่เข้ารักษาจนต้องนอนค้างคืน ทำให้บุรุษพยาบาลที่เข้าเวรกลางคืนใช้โอกาสนี้มาล่วงละเมิดทางเพศด้วยวิธีการต่างๆหลายรูปแบบ จากกล้องวงจรปิดที่บันทึกพบว่าแค่ 2 ชั่วโมง บุรุษพยาบาลล่วงละเมิดทางเพศไปเกือบ 20 ครั้ง ทำให้เด็กผู้ชายมีอาการต่างๆทางจิตตามมา ทั้งกลัวที่มืด, นอนไม่หลับ เดินผ่านหน้าโรงพยาบาลไม่ได้ จนมาปรึกษากับมูลนิธิ มูลนิธิจึงแนะนำให้ไปรักษากับจิตแพทย์ และก็ใช้เวลานานพอสมควรในการรักษาจนกระทั่งพบกันล่าสุดเดือนที่แล้วจึงเห็นว่าเด็กผู้ชายเริ่มมีอาการดีขึ้น ความกลัวและความเครียดต่างๆหายไป ส่วนหนึ่งก็มาจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำคุกบุรุษพยาบาล 6 ปี ไม่รอลงอาญา โดยขณะนี้คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์
น.ส.อังคณา เล่าต่อว่า จากประสบการณ์ของมูลนิธิ พบว่าการเอาผิดการล่วงละเมิดทางเพศในผู้ชายทำได้ยากกว่าการล่วงละเมิดในผู้หญิง เพราะการล่วงละเมิดผู้ชายมักทำโดยผู้ชายด้วยกันและทำผ่านทวารหนัก ปัญหาคือผู้ชายที่ถูกล่วงละเมิดส่วนมากไม่ได้ไปตรวจร่างกายหรือแจ้งความทันทีประกอบกับร่องรอยการล่วงละเมิดทางทวารหนักมักหายไปใน 1-2 วัน ส่งผลให้ไม่สามารถเอาผิดทางกฎหมายได้ ผู้ชายส่วนมากจึงยอมยุติการดำเนินคดีในที่สุด กลายเป็นช่องว่างในการเอาผิด เว้นจากว่าจะมีหลักฐานอย่างกรณีในโรงพยาบาลจึงจะดำเนินคดีได้