การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง กรมชลประทาน ได้ตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2562-2563 นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย จึงต้องบริหารจัดการน้ำอย่างจำกัด และให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ ให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ
ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานว่า เดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 เป็นภาวะฝนทิ้งช่วง และเป็นภัยแล้งที่รุนแรงในรอบ 60 ปี เป็นอันดับสอง รองจากปี2522 จึงจำเป็นต้องเปิดศูนย์เพื่อรับมือ แก้ไขปัญหาโดยเน้นย้ำให้ประชาชนใช้น้ำตามแผน อย่างประหยัด และคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อให้ผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้จนถึงเดือน ก.ค.2563
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ(27ธันวาคม 2562) มีปริมาณน้ำในอ่างรวมกัน 47,377 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 62 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 23,531 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,157 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน4,461 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน จึงวางแผนส่งน้ำเฉพาะการสนับสนุนน้ำอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และผลไม้ยืนต้นเท่านั้น
หลังจากนั้นอธิบดีกรมชลประทานได้ปล่อยขบวนเครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ ประจำการที่ศูนย์ทั่วประเทศ โดยมีศูนย์ส่วนกลางอยู่ที่ จ.นนทบุรี และอีก 7 จังหวัดได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.พิษณุโลก จ.ขอนแก่น จ.นคราชสีมา จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.สงขลา พร้อมเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่