ในที่สุดแล้ว คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) มีมติร่วมกันว่าไม่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่จ.นครสวรรค์ นายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผล กระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ) โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ กล่าวว่า หลังนายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทำหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีป่าที่สมบูรณ์มากกว่าที่จะปล่อยให้มีการสร้างเขื่อน รวมทั้งในอนาคตจะผนวกอุทยานแห่งชาติ แม่วงก์ เป็นพื้นที่มรดกโลกรวมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นป่าผืนเดียวกัน ก็ถือว่าได้ข้อยุติเรียบร้อยแล้วว่าไม่ควรสร้าง อย่างไรก็ตามโครงการนี้เสนอโดยรัฐบาลคือกรมชลประทาน ในอนาคตกรมชลประทาน สามารถไปทำข้อมูลมาใหม่ เพื่อให้ คชก.พิจารณาอีกครั้งก็ได้ คชก.ก็มีหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นประกอบ เพื่อนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่กรมชลประทาน ควรจะไปคุยในรายละเอียดของพื้นที่ป่าในอุทยานแห่งชาติให้ตัวเลขและสถานการณ์ต่างๆ ตรงกันก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุม หากจะนำมาเสนออีกครั้ง
ด้านนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องดีอย่างยิ่งที่ คชก.ได้ข้อสรุปออกมาแบบนี้ การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ยังคงต้องมีต่อไป สิ่งที่มูลนิธิสืบฯจะต้องทำต่อคือการผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปจัดการน้ำทางเลือกหรือการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก สำหรับพื้นที่ที่มีปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งในบริเวณนั้นต่อไป ไม่ใช่ว่าพอไม่มีเขื่อนแม่วงก์แล้ว ปัญหาของชาวบ้านจะหมด เพราะพื้นที่นั้นจะมีปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งอยู่ กินพื้นที่กว้างประมาณ 1 ล้านไร่ ซึ่งผู้รับผิดชอบเรื่องนี้มี 4 หน่วยงานหลัก คือ 1.กรมชลประทาน 2.กรมทรัพยากรน้ำ 3.กรมโยธาธิการ และ 4.ส่วนท้องถิ่น