จากปัญหาสังคมซับซ้อน ปัญหาสุขภาพ เรื่องครอบครัว ส่งผลต่อจิตใจและการทำงาน ในส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในช่วงนี้พบว่าหลายคนตัดสินใจฆ่าตัวตาย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ห่วงใยตำรวจทุกนายอย่างมาก จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตายเพื่อศึกษาสาเหตุ กำหนดวิธีการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเป็นรูปธรรม แบ่งแนวทางเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ผู้บังคับบัญชาต้องประเมินผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีลักษณะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ด้วยการสังเกตพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรง เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน ,มีปัญหาส่วนตัวและครอบครัว,มีปัญหาทางบุคลิกลักษณะหรือสุขภาพจิต,มีปัญหาสุขภาพ ตลอดจนการเช็คประวัติเคยพยายามฆ่าตัวตายในสาเหตุใดมาก่อนหรือไม่ เมื่อทราบสาเหตุแล้วผู้บังคับบัญชาต้องทำความเข้าใจ ให้คำแนะนำ ใส่ใจใกล้ชิด หากพบว่า ผู้บังคับบัญชาละเลยจนมีความสูญเสียถึงชีวิตจะพิจารณาความบกพร่องของผู้บังคับบัญชาตามคำสั่งตร.ที่ 1212/2537 ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2537 เรื่องมาตรการควบคุมและเสริมสร้างความประพฤติและวินัยข้าราชการตำรวจ
นอกจากนี้ จะให้โรงพยาบาลตำรวจ จัดอบรมให้คณะกรรมการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตตำรวจและครอบครัว ที่ทุกหน่วยงานจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้และทักษะแนวทางการป้องกัน แก้ไขปัญหาตำรวจฆ่าตัวตาย รวมถึงการดูแลจิตใจของผู้พยายามฆ่าตัวตาย
ส่วนระยะกลาง กำชับให้ทุกหน่วยงานตรวจสุขภาพกายและสุขภาพจิตประจำปี ตรวจภาวะติดสุราเรื้อรังหรือสารเสพติด โดยมีนักจิตวิทยาร่วมตรวจด้วย ให้ศูนย์ฝึกอบรมประจำหน่วยงาน เสริมเนื้อหาการวางแผนการเงินส่วนบุคคลไว้ในหลักสูตรการฝึกอบรมต่างๆ จากนั้นจะตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการทุกหน่วยงานในการตรวจราชการประจำปี
แนวทางระยะยาว ให้โรงพยาบาลตำรวจ จัดตั้งศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาตำรวจฆ่าตัวตาย โดยจัดทำรายละเอียดโครงสร้างอำนาจหน้าที่ และแนวทางการดำเนินงานนำเสนอให้พิจารณาต่อไป รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึง ตำรวจหรือญาติที่พบว่าเสี่ยงก่อเหตุฆ่าตัวตาย ให้สังเกตสัญญาณเตือนที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตาย เช่น พูดถึงความตายหรือการฆ่าตัวตาย หรือบ่นว่าอยากตาย เป็นต้น ควรหันหน้าปรึกษาญาติหรือผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงานทันที
แฟ้มภาพ