สื่อไทยมองว่าภัยบนท้องถนนเกิดจากจิตสำนึกไม่เพียงพอ และมีความอดทนน้อยลง

03 ธันวาคม 2562, 13:27น.


          ในการเสวนาเสียงจากสื่อไทยถึงภัยบนท้องถนน ในการสัมมนาสื่อมวลชนกับการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน นางอัจฉรา บัวสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการสถานีวิทยุ จส.100 มองว่า คนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยยกตัวอย่างว่าเรื่องจิตสำนึก,ความอดทนน้อยลง และคนขับรถ ชอบฝ่าไฟแดงและขับรถเร็ว เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น จส.100 เป็นสถานีวิทยุ 24 ชั่วโมง แต่ละวันก็จะได้รับแจ้งอุบัติเหตุบนท้องถนนหลายกรณี และแต่ละกรณีก็มักจะเป็นการรายงานสถานการณ์แบบเรียลไทม์ ทำให้อาจเจออุปสรรคบ้าง รวมทั้งต้องพึ่งพาหน่วยงานรัฐเป็นหลักในการประสานข้อมูล ตอนนี้กำลังเน้นทำงานผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น




          ด้านน.ส.พรประไพ เสือเขียว จากเดลินิวส์ เล่าว่า เคยไปทำข่าวรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ ซึ่งครูที่สอนขับรถบิ๊กไบค์ก็เล่าให้ฟังว่า ผู้ที่มาเรียนขับบิ๊กไบค์ส่วนมากจะเป็นกลุ่มวัยรุ่น ส่วนกลุ่มคนที่มีอายุแล้วไม่ยอมมาเรียน เพราะเชื่อประสบการณ์ตัวเองซึ่งถือเป็นเรื่องอันตราย เพราะถนนในเมืองไทยน่ากลัวและยังมีสภาพแวดล้อมต่าง ๆที่คุมไม่ได้ จึงไม่เหมาะสมต่อการขับรถเร็ว โดยเฉพาะรถบิ๊กไบค์




          สอดคล้องกับนายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ หนึ่งในกลุ่มเยาวชนที่ใช้รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ และเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ที่ขับบิ๊กไบค์มาแล้ว 6 เดือน เล่าให้ฟังว่า ตัวเองจะขับไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะรู้ว่าหากขับเร็วกว่านี้อาจจะคุมรถไม่ได้ และมองว่าเด็กวัยรุ่นไทยที่ขับรถจักรยานยนต์เกือบทั้งหมดก็ไม่มีใบขับขี่ และผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนมากก็ยังไม่มีความรู้เรื่องรถ โดยยกตัวอย่างถึงการเบรกรถจักรยานยนต์ว่าหลายคนยังไม่ทราบว่าควรเบรกด้วยล้อหน้าหรือล้อหลัง


          ส่วนนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ศูนย์ข่าวอิศรา ชี้ถึงอุปสรรคการทำข่าวอุบัติเหตุบนท้องถนนในไทยว่า มี 2 ปัจจัยหลัก คือ สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องรายได้ของนักข่าวที่เมื่อเทียบกับค่าแรงที่ได้แล้วไม่คุ้มค่ากับการทำข่าวอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีความยุ่งยากซับซ้อน, การที่ช่องต่าง ๆคำนึงถึงเรตติ้งมากกว่าข่าวที่นำเสนอ และความรู้ของนักข่าวที่ยังมีไม่มากพอ พร้อมชี้ว่าอุบัติเหตุท้องถนนในไทยเกิดจากนโยบายที่ไม่ชัดเจนของรัฐในการแก้ปัญหา ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากผลประโยชน์ทับซ้อนที่แม้แต่รัฐยังไม่กล้าเข้าไปจัดการ โดยยกตัวอย่างถึงรถประเภทหนึ่งที่ไม่ควรนำมาทำเป็นรถโดยสาร แต่ก็ยังทำได้ เพราะมีการขู่ว่าหากไม่ยอมให้ทำจะถอนการผลิตในไทย ผนวกกับจิตสำนึกของประชาชน โดยยกตัวอย่างรถจักรยานยนต์ที่มีคำสั่งห้ามวิ่งเข้าอุโมงค์และสะพานต่าง ๆ และการห้ามนั่งท้ายกระบะแต่ทั้งสองกรณียังมีผู้ฝ่าฝืนต่อเนื่อง ทั้งยังพบว่ารถจักรยานยนต์ที่มีกว่า 20 ล้านคัน ก็มีใบขับขี่รวมแล้ว 12 ล้านคัน รถจักรยานยนต์และรถโดยสารสาธารณะจึงเป็นยานพาหนะสำคัญที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด พร้อมเสริมว่าการอนุมัติใบขับขี่รถประเภทต่างๆก็มีปัญหา โดยยกประสบการณ์ตรงที่ไปทำใบขับขี่แล้วพบว่ามีแค่การเปิดวิดีโอให้ผู้อบรมดู โดยไม่สนใจว่าผู้อบรมจะสนใจหรือไม่


          ขณะที่น.ส.เสาวลักษณ์ คงภัคพูล จากช่องพีพีทีวี ที่ตั้งคำถามจากประสบการณ์ของตัวเองว่าเป็นไปได้หรือที่ผู้ทำใบขับขี่ทุกคนทุกรอบจะผ่านการอบรมทั้งหมด เนื่องจากเห็นในพื้นที่ตัวเองที่คนที่ไปสอบใบขับขี่ผ่านการอบรมกันหมด พร้อมชี้ว่าอนาคตกลุ่มคนขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะที่รับส่งสินค้าต่างๆผ่านแอปพลิเคชั่นจะเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญที่จะเกิดอุบัติเหตุ เพราะเห็นว่าผู้ขับรถจักรยานยนต์มักใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่ เห็นว่าควรมีมาตรการเด็ดขาดในการยกเลิกการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่


...
ข่าวทั้งหมด

X