ผู้แทนจากเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก จำนวนประมาณ 25,000 คนเข้าร่วมการประชุมประจำปีของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกสมัยที่ 25 หรือ COP25 ที่กรุงมาดริด สเปน ซึ่งเริ่มขึ้นในวันนี้ (2 ธ.ค.) และจะใช้เวลาประชุมยาวนานถึง 2 สัปดาห์ โดยอ้างอิงจากรายงานของสหประชาชาติ ที่ระบุว่า ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลกในปีนี้มีปริมาณสูงสุดเป็นสถิติใหม่ และอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้นอีก 3.9 องศาเซลเซียสก่อนสิ้นศตวรรษนี้ คาดว่า การประชุม COP25 ในครั้งนี้จะช่วยสร้างมาตรฐานใหม่เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ เพิ่มมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกในห้วงเวลา 1 ปี ก่อนที่จะถึงการประชุมปีหน้าที่สก็อตแลนด์ โดยยังมีแนวทางเกี่ยวกับข้อตกลงควบคุมตลาดคาร์บอนโลก ตลอดจนการเจรจาขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับกองทุนสนับสนุนประเทศยากจนในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน มูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์
การประชุมในวันนี้ ยังมีขึ้นหลังจากที่หลายประเทศเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเหตุไฟป่าในบราซิล ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และสาธารณรัฐคองโก ไปจนถึงพายุเฮอริเคน น้ำท่วม และภัยแล้ง นอกจากนี้ สภาสหภาพยุโรปเพิ่งประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศโลก และสิ่งแวดล้อม
ตามกำหนดเดิมการประชุมในครั้งนี้ชิลีต้องเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม แต่ขอถอนตัวเนื่องจากปัญหาการชุมนุมประท้วงในประเทศ ทำให้สเปนเสนอตัวขอรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ส่วนสหรัฐฯ ที่ขอถอนตัวออกจากข้อตกลง จะส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม โดยระบุว่าเพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และน.ส.เกรต้า ธันเบิร์ก นักรณรงค์จากสวีเดนจะนำกลุ่มนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมด้วย
...