*ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30 น.
+++ลงพื้นที่ตรวจภัยแล้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางลงพื้นที่ จ.ขอนแก่นและกาฬสินธุ์ ในวันนี้ โดยจะไปเป็นประธานปล่อยแถวเครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง ก่อนจะร่วมประชุมมอบนโยบายกับผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคอีสาน ส่วนจากการลงพื้นที่พบว่า ขอนแก่นปีนี้แล้งมากกว่าที่คิด ขณะนี้ เริ่มมีปัญหาขาดน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคบ้างแล้ว
+++กลับมาอีกแล้ว กับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งวันนี้ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านแหล่งน้ำ(คชก.) ประชุมเกี่ยวกับอีเอชไอเอโครงการเขื่อนแม่วงก์วันนี้ เวลา13.30 น. โดยที่นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งนั่งปักหลักประท้วงรายงานอีเอชไอเอฉบับดังกล่าวมา 3 วัน 2 คืน จะเข้าชี้แจงเหตุผลการคัดค้านต่อ คชก.ด้วย ด้านชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเวทีเสวนาคู่ขนานในหัวข้อ "จากแม่วงก์ถึงคชก. ใครลักไก่ EHIA" ที่บริเวณประตู 3 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเวลา 11.00-12.00 น.
+++การพิจารณา ร่างพรบ.การชุมนุมในที่สาธารณะ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการร่างพ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญคือกำหนดให้ผู้ชุมนุมมีหน้าที่ ที่จะต้องแจ้งวัน เวลา สถานที่ที่จะชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจผู้รับผิดชอบก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงในการกำหนดหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมไว้อย่างชัดเจน ในร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ได้กำหนดสถานที่ห้ามจัดการชุมนุม อาทิ ทำเนียบรัฐบาล สถานที่ราชการ ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังกำหนดความคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการดูแลการชุมนุมในที่สาธารณะด้วย
++++ส่วน การปราศรัยและจัดกิจกรรมในช่วงเวลา 22.00- 06.00 น. รวมถึงการเดินขบวนเคลื่อนย้ายในเวลากลางคืนไม่สามารถกระทำได้ สำหรับโทษมีการกำหนดไว้ว่าหากผู้จัดการชุมนุมมิได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทราบจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้จัดการชุมนุมที่จัดแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่ระบุมาทั้งหมดจะมีโทษจำคุก 2-10 ปี และปรับ ตั้งแต่ 40,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะเดียวกันผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมายเจ้าหน้าที่ขอให้ออกจากพื้นที่การชุมนุมแล้วไม่ยอมออกตามข้อกำหนดจะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่ ก่อนหน้านี้ นายกฯ บอกว่า ตีกลับร่างพรบ.ฉบับนี้ ทำให้สื่อถามต่อ สรุปว่า พ.ร.บ.การชุมนุมถูกตีตกหรือไม่ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ซึ่งขณะนี้ได้ส่งให้กฤษฎีกาไปตรวจอีกครั้ง โดยไม่ต้องส่งกลับมาสู่ ครม.อีก
++++ ในการประชุม ครม. ขณะที่กำลังมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.....นั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้กล่าวปรารภตอนหนึ่งว่า จำเป็นที่ต้องมีกฎหมายดังกล่าวออกมาเพราะประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงมีการบังคับใช้กฎหมายนี้ทั้งนั้นและถ้าเราไม่มีกฎหมายดังกล่าวจะทำให้การชุมนุมทางการเมืองต่าง ๆ สร้างผลกระทบให้ประเทศของเราเดินไปไม่ถึงไหนเพราะไม่มีกฎกติกาที่ชัดเจนดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายนี้ แม้บางเรื่องจะดูเหมือนเป็นสิ่งที่ขัดใจประชาชนบ้าง แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ
+++ส่วนผลการประชุม 5 สาย ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เป็นประธาน การประชุมครั้งนี้ จัดโต๊ะประชุมเป็นรูปตัวยู (U) ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้นั่งหัวโต๊ะ โดย นายพรเพชร นายเทียนฉาย นายบวรศักดิ์ รวมถึงสมาชิก สนช. สปช. และกมธ. ยกร่างฯ นั่งทางซ้ายมือ พล.อ.ประยุทธ์ ส่วน ครม. และ คสช. นั่งทางขวามือของ นายกฯ การประชุมเริ่มด้วยการที่ พล.อ. ประยุทธ์ ได้กล่าวขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันทำหน้าที่ในช่วงที่ผ่านมาและยืนยันว่ารัฐบาลต้องการนำพาประเทศไปสู่การปฏิรูปให้ได้ภายใน 1 ปีตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้ เน้นย้ำให้ สปช. และ สนช. ร่วมกันทำงานใน 3 ส่วน ประกอบด้วย ขอให้ สนช. เร่งผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปให้เสร็จสิ้นภายใน1 ปี ซึ่งน่าจะมีประมาณ 300 ฉบับ โดยขณะนี้ ครม. ได้เตรียมที่จะเสนอ สนช. ในเร็ว ๆ นี้ประมาณ 100 ฉบับ ส่วนที่เหลือจะทยอยตามมาภายหลังจากนี้หรืออย่างน้อยภายในปีนี้ สนช. ต้องออกกฎหมายที่ทำให้ประชาชนมีความสุขเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานให้กับประชาชนเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ภายใน 3 เดือนนี้ สปช. ต้องทำงานให้เห็นผลและถ้ามีอุปสรรคอะไร ก็ให้ทำเรื่องมายัง ครม. ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการให้ทั้งหมด และ อยากให้ สปช. เดินหน้าวางกระบวนการปฏิรูปโดยไม่อยากให้ไปเริ่มทำการนับหนึ่งตั้งแต่ต้น เพราะกระทรวงกลาโหมได้ทำรายงานเสนอมาครบทั้ง 11 ด้านแล้ว แต่หากมีส่วนไหนที่ขาดก็ค่อยไปเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์
+++จากนั้นได้มีสมาชิก สปช. ถาม นายกฯถึงแนวทางการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในช่วงกฎอัยการศึกซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ถามกลับว่า "วันนี้บ้านเมืองสงบแล้วหรือยัง เลิกตีกัน ทะเลาะกันหรือยัง ถ้าวันนี้บ้านเมืองวันนี้สงบ เลิกทะเลาะกันไม่มีการปลุกระดมก็จะยกเลิกให้วันนี้เดี๋ยวนี้เลย แต่เวลานี้ยังมีความจำเป็นต้องใช้ต่อไป ส่วนเรื่องไหนที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นรัฐบาลก็ไม่ได้ขัดข้อง"
++++นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช. แสดงความคิดเห็นต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญว่า ในอดีตที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จโดยเร็วพร้อมจัดทำกฎหมายลูกเพื่อส่งมอบให้มีการจัดการเลือกตั้งแต่มีปัญหา คือ หลายเรื่องในรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลต่อ ๆ มาไม่เคยสานต่อให้สำเร็จดังนั้น จึงเห็นว่าไม่อยากให้เร่งรีบจัดทำรัฐธรรมนูญ มิเช่นนั้นจะทำให้เสียของและล้มเหลว ส่วนนายบวรศักดิ์ เห็นว่า การรับฟังความคิดเห็นและการทำประชามติจะเป็นส่วนสำคัญและเป็นเกราะที่ป้องกันให้รัฐธรรมนูญในอนาคตถูกแก้ไขได้ยาก ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ตอบในเรื่องนี้ว่า การทำประชามติยังอีกไกล ขอดูสถานการณ์และความเหมาะสมก่อน
"ผมไม่อยากอยู่ในตำแหน่งแล้วผมจะอยู่ได้นานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับพวกที่นั่งอยู่ในที่นี้ เปลืองตัว ประชุมก็เยอะแต่เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องเดินหน้าไปด้วยกัน และวันนี้อยากขอให้แม่น้ำทั้ง 5 สายรวมเป็นสายเดียวกัน เพื่อให้ประสบความสำเร็จ"
+++มีรายงานว่าการประชุมในครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เวลากล่าวคนเดียวนานถึง 1 ชั่วโมง และได้มีการเลี้ยงอาหารให้กับผู้มาร่วมประชุมได้แก่ กาแฟ น้ำเปล่า ชา น้ำดอกอัญชัน ขนมตาล และขนมใส่ไส้
++++นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่าในการหารือนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณทุกคนที่เป็นแม่น้ำสายเดียวกัน พร้อมกำชับให้ทุกคนทำงานตามโรดแม็พและกรอบเวลาที่กำหนดไว้ให้ได้ โดยไม่มีคำสั่งใด ๆ ทั้งนั้น และย้ำว่า ใครมีหน้าที่อะไรก็ไปทำ นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่าอยากเห็นผลงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมของทุกคน และเป็นประโยชน์ให้ประชาชนมากที่สุดโดยเฉพาะ สนช. ที่มีหน้าที่ในการออกกฎหมายต้องเร่งออกกฎหมายให้เร็วที่สุด ใครที่อยากเห็นประเทศปฏิรูปไปในทิศทางใด ให้เสนอเข้ามารัฐบาลยินดีรับฟัง เพราะรัฐบาลนี้ถูกกดดันจากหลายด้านไม่ว่าจะเป็นต่างชาติ สื่อ แม้กระทั่งนักวิชาการ ทั้งนี้รัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าปฏิรูปให้สำเร็จเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง ให้ได้
+++การเปิดรับฟังความคิดเห็น ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร เพื่อให้สังคมไทยมีอนาคตที่ดี เพื่อส่งมอบให้ลูกหลาย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยข้อเสนอของตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนาและ พรรคภูมิใจไทยที่เข้าเสนอความเห็นต่อคณะกรรมาธิการตามคำเชิญว่า พรรคภูมิใจไทยเสนอไม่ให้จำกัดวาระการเป็น ส.ส. เพราะ จะทำให้การแก้ปัญหาให้ประชาชนไม่ต่อเนื่อง ให้ปรับปรุงวิธีการ เลือกคนเข้าทำงานในองค์กรอิสระเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ การยุบพรรคตัดสิทธิกรรมการบริหาร แบบเหมาเข่งไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่ไม่มีส่วนร่วมทำความผิด การดำเนินตามนโยบายของพรรค การเมืองหรือรัฐบาล หากเกิดกรณี ทุจริตให้เอาผิดเฉพาะผู้ทำผิด ไม่ควรเอาผิดกับผู้กำหนดนโยบาย เพราะจะกระทบต่อการทำงานของพรรคการเมืองและรัฐบาล
+++ ด้านพรรคชาติไทยพัฒนามีข้อเสนอดังนี้ ให้สร้างกลไกถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติแก้ปัญหาพวกมากลาก ไป แก้เรื่องการยุบพรรคตัดสิทธิเพราะไม่มีความเป็นธรรม ส.ส. ต้องสังกัดพรรคหากจะมี ส.ว. สรรหาต้องมีสัดส่วนน้อยกว่า ส.ว.เลือกตั้ง โดยกำหนดสัดส่วน 1 ใน 6 และเปลี่ยนวิธีสรรหาใหม่เพื่อให้เกิดการยอมรับ
++++นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ระบุว่า จะไม่ทำเรื่องขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อจัดประชุมพรรค เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯและสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต้องแก้ไขเองหากต้องการระดมความเห็นเพื่อการปฏิรูป นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัว หน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ได้ทำหนังสือขออนุญาตจัดประชุมพรรคจาก คสช. แล้ว เพราะการไปเสนอความเห็นต่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯไปในนามพรรค จึงต้องขอมติพรรคในประเด็นที่จะไปนำเสนอ
+++ที่ประชุมครม.เมื่อวานนี้ เห็นชอบในหลักการพิจารณาขึ้นเงินเดือนข้าราชการ แต่ไม่ใช่การเพิ่มเงินเดือนแต่เป็นการเพิ่มค่าครองชีพ หากใครรายได้ไม่ถึง 10,000 บาท เช่น รายได้ที่เดือนละ 9,000 บาท อาทิ พลทหาร ก็เพิ่มอีก 1,000 บาท เป็น 10,000 บาท เป็นการเพิ่มค่าครองชีพ นอกจากนี้ ผู้ที่มีเงินเดือนไม่ถึง 13,000 บาทจะเพิ่มค่าครองชีพให้ถึง 13,000 บาท แต่ก็ไม่เท่าผู้ที่มีรายได้ 15,000 บาท ถือว่าจะต้องดูแลข้าราชการชั้นผู้น้อย ไม่เฉพาะทหารเท่านั้น ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการทำประชานิยม แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีการขึ้นเงินเดือนมาเป็นเวลานาน และไม่สามารถขึ้นเงินเดือนได้ จึงให้เป็นการเพิ่มค่าครองชีพอย่างน้อย 500-1,000 บาท