กลุ่มต้าน-กลุ่มหนุน ไม่พอใจมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย
ความเห็นของเกษตรกรที่คัดค้านการแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร หลังผลประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีผลว่าให้เลื่อนการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ออกไปอีก 6 เดือน คือในวันที่ 6 มิถุนายน 2563 และกำหนดการใช้ไกลโฟเซต ให้อยู่ในวงจำกัด ตัวแทนเอกชนและเกษตรกรบางส่วน แสดงความคิดเห็นไม่พอใจ เช่น นายสุชัช สายกสิกร ผู้แทนจากกลุ่มเกษตรกร เห็นว่า ระยะเวลา 6 เดือน สำหรับเกษตรกรยังไม่สามารถปรับตัวได้ อย่างน้อยต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี ส่วนไกลโฟเซตที่มีการจำกัดการใช้มองว่ายังไม่ตอบโจทย์ต่อเกษตรกร เพราะเป็นสารเคมีที่ไม่จำเป็นในการใช้ และไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่า 2 สารที่ถูกยกเลิกไป มองว่าในอนาคตหากยังมีการยืนตามมติดังกล่าวต่อไป ภาคการเกษตร อาจรวมกลุ่มกันเพื่อหารือและเดินหน้ายื่นเรื่องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้คุ้มครองต่อไป
ด้านเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กไบโอไทย (BIOTHAI) ผิดหวังกับมติดังกล่าว การตัดสินใจมาจากการผลักดันและสนับสนุนโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นการตัดสินใจที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทสารพิษกำจัดศัตรูพืช โดยผลักภาระความเสี่ยงแก่ประชาชนทั้งประเทศทั้งเกษตรและผู้บริโภค เฉพาะอย่างยิ่งการอนุญาตให้ใช้สารไกลโฟเซต สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ ระบุว่า เป็นสารน่าจะก่อมะเร็ง และศาลสหรัฐฯตัดสินให้บริษัทมอนซานโต้-ไบเออร์ ต้องเยียวยาและชดใช้เงินให้เกษตรกร เครือข่ายฯจะเดินหน้าขับเคลื่อนให้มีการยกเลิกการใช้ไกลโฟเซต และสารพิษร้ายแรงอื่นๆ ต่อไป
ก.เกษตรฯ ชี้แจงยังไม่มีสารทดแทน คาดหาได้ทัน 6 มิ.ย.63
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบต่างๆ แล้ว หากมีการยกเลิกการใช้ตอนนี้โกลาหลแน่นอน เนื่องจากการใช้พาราควอต เป็นเสมือนยาสามัญประจำ ที่เกษตรกรเคยชินใช้กำจัดวัชพืช ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตร ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ได้ศึกษาสารทดแทนมาแล้วประมาณ 1 ปี ทั้งที่เป็นสารเคมีและไม่ใช่สารเคมีรวมทั้งวิธีการอื่น ๆ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ระหว่างนี้หวังว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งหาสารทดแทนมาได้ทันภายในวันที่ 6 มิ.ย.2563 ระหว่างนี้ห้ามมีการนำเข้าสารทั้ง 2 ชนิด พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ให้ใช้สารคงค้างที่อยู่ในประเทศประมาณ 23,000 ตันเท่านั้น
รายงานระบุว่า สารคงค้างดังกล่าว หากต้องทำลาย จะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากและบางส่วนไม่สามารถผลักดันส่งกลับไปได้ อีกทั้งผลกระทบที่เกิดต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งอาจไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งใช้สารเคมีดังกล่าวเข้ามาในไทยได้ ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่มีมาตรการในการจัดการ และยังมีข้อกังวลเรื่องผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศด้วย
ส่วนสาเหตุพลิกมติเดิม ให้ไกลโฟเซตมาใช้วิธีจำกัดการใช้ เพราะว่าจะกระทบต่อการนำเข้าถั่วเหลือง และข้าวสาลี ซึ่งมีผลต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง ตามที่นายกสมาคมอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ร้องเรียนมา ซึ่งหากไม่สามารถนำเข้าถั่วเหลืองได้ก็จะไม่สามารถผลิตอาหารสัตว์ได้ซึ่งมีมูลค่าเสียหายเป็นหมื่นล้าน
นอกจากนี้ ในวันที่ 2 ธันวาคม จะมีการประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนงบประมาณที่จะเสนอขอรัฐบาล จำนวน 3.3 หมื่นล้าน เป็นแค่เพียงการคาดการณ์เท่านั้น อาจจะมีการเสนอขอเพิ่มหรือน้อยลง รอให้ได้ข้อสรุปครบทั้งหมดก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
กรรมการ 2 คน ในส่วนของก.สธ.จะแถลงเรื่องมติเลื่อนแบนสารเคมี
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าเคารพมติที่ออกมา แต่มติของคณะกรรมการดังกล่าวไม่เป็นเอกฉันท์ เพราะกรรมการในสัดส่วนของกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 2 คนไม่ได้ลงมติ ซึ่งในช่วงเช้านี้ น.พ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) พร้อมด้วย น.พ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะกรรมการวัตถุอันตราย 2 คนในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข จะให้สัมภาษณ์เรื่องนี้
กรมการค้าภายใน เผยราคาข้าวมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น
การประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์อ้างอิง โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ครั้งที่ 5/2562 นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวว่า ที่ประชุมคาดการณ์ว่าราคาข้าวเปลือก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวจะมีราคาเพิ่มสูงกว่าราคาประกันรายได้ เนื่องจากปัญหาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมกระทบต่อผลผลิตลดลง ขณะนี้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงข้าวเปลือกเหนียว มีราคาสูงขึ้นที่ 16,186.25 บาทต่อตัน สูงกว่าราคาประกันรายได้ที่ 12,000 บาทต่อตัน รัฐบาลจึงไม่ต้องจ่ายชดเชย ขณะที่ ข้าวเปลือกเจ้า ราคาเกณฑ์กลางอยู่ที่ 7,446.61 บาทต่อตัน ต่ำกว่าราคาประกันรายได้กำหนดที่ 10,000 บาทต่อตัน จึงจ่ายชดเชย 2,553.39 บาทต่อตัน
ส่วนข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาเกณฑ์กลางอยู่ที่ 9,404.32 บาทต่อตัน ต่ำกว่าราคาประกันกำหนดไว้ 11,000 บาทต่อตัน จึงจ่ายชดเชยที่ 1,595.68 บาทต่อตัน ที่น่าเป็นห่วงคือน้ำในเขื่อนน้อย อาจกระทบต่อผลผลิตข้าวเปลือกเจ้านาปรังปี 2563 ที่ปกติมีผลผลิต 8 ล้านตัน อาจเหลือ 3.5 ล้านตัน หรือหายไปร้อยละ 50 ซึ่งจะทำให้ข้าวเปลือกทั้งปี 2563 มีข้าวเปลือกออกสู่ตลาดเหลือ 27-28 ล้านตัน จากปกติ 32-34 ล้านตัน จะมีผลต่อราคาข้าวเปลือกและข้าวสารจากนี้มีราคาสูงขึ้น และอาจส่งผลต่อราคาข้าวในประเทศขยับสูงด้วย
CR:เฟสบุ๊ก ไบโอไทย