สำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า ประธานาธิบดีมุน แจอินของเกาหลีใต้ และผู้นำจาก 5 ประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยและผู้นำจากอีก 4 ประเทศคือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามซึ่งร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกรอบความร่วมมือกลุ่มแม่น้ำโขง-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 1 ในเมืองปูซาน ตกลงที่จะเพิ่มความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มากยิ่งขึ้นใน 7 ด้านคือ การพัฒนาเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์,ระบบสาธารณูปโภค,เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที),วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว,การลงทุนในด้านทรัพยากรมนุษย์, สิ่งแวดล้อมและการแก้ปัญหาความมั่นคงใหม่ๆเช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาชญากรรมข้ามชาติ อาชญากรรมทางไซเบอร์และภัยพิบัติทางธรรมชาติ
กลุ่มประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตกลงจะใช้ประสบการณ์จากเกาหลีใต้ที่สามารถจะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วหลังยุคสงครามเกาหลีระหว่างปี 2493 – 2496 เป็นต้นแบบของการพัฒนา โดยเฉพาะโครงการแซมาอึล อุนดง ที่เกาหลีใต้ใช้เป็นแนวทางการพัฒนาเกษตรกรรมในชนบทในปี 2513 เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้สูงขึ้นนอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มความร่วมมือด้านการก่อสร้างถนน ทางรถไฟและท่าเรือ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขงให้ก้าวหน้ามากขึ้น จัดทำโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อส่งเสริมการปรับตัวให้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ส่วนในด้านการพัฒนาทรัพยากร ที่ประชุมตกลงจะจัดตั้งศูนย์วิจัยทรัพยากรน้ำร่วมในเกาหลีใต้ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือการปรับปรุงให้มีการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน