หลังการประชุมร่วมครั้งแรก5 ฝ่าย ประกอบด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. คณะรัฐมนตรีหรือครม. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช. สภาปฎิรูปแห่งชาติหรือสปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นประธาน พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสปช.และโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญว่าหากทำกฎหมายลูกและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หลังมีรัฐธรรมนูญแล้วอาจมีความล่าช้าในการบังคับใช้ และส่งผลต่อระยะเวลาการปฎิรูปประเทศ จึงสั่งให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อให้จัดทำกฎหมายลูกควบคู่กันไป เพื่อจะได้เสร็จโดยเร็ว
นอกจากนั้น ที่ประชุมได้รับฟังผลการดำเนินงานของทุกฝ่ายและยังไม่พบปัญหาใดๆ โดยนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำการทำงานของทุกฝ่ายให้ปฎิบัติตามแนวทางการปฎิรูปประเทศที่วางไว้ และให้เร่งทำงานโดยเร็ว เนื่องจากมีเวลาไม่มาก โดยเฉพาะการปฎิรูปทั้ง 11 ด้าน และหากเรื่องใดที่คณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา 18 คณะสามารถดำเนินการได้เอง ก็ให้ดำเนินการทันที แต่หากเรื่องใดต้องมีการตราเป็นกฎหมายหรือมีการพิจารณาเป็นพิเศษให้ส่งเรื่องมาที่คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และในอนาคตครม.หรือคสช.อาจมีการเสนอแนวทางปฎิรูปประเทศมายังสปช.ให้พิจารณาด้วย
ส่วนกฎยกเลิกอัยการศึกยังไม่ได้มีการพูดถึง เพราะเหตุการณ์ยังไม่สงบ และนายกรัฐมนตรีเห็นว่ายังต้องบังคับใช้ เพื่อรักษาความสงบของประเทศ ยืนยันว่ากฎอัยการศึกนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการปฎิรูปและการดำเนินการรับฟังความเห็นของสปช.และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนการทำประชามติ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้รอดูผลตอนรับจากประชาชนไปอีกระยะก่อน เนื่องจากรัฐธรรมนูญเองก็ได้เปิดช่องให้ทำประชามติไว้อยู่แล้ว หากประชาชนเห็นด้วยก็อาจไม่ต้องทำประชามติ