ความเคลื่อนไหวเมืองไทย12.30น.ประจำวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2562
สมเด็จพระสันตะปาปา เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
แผ่นดินไหวในลาว สร้างความเสียหายหลายพื้นที่
ในเมืองหงสา แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว ซึ่งเป็นศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้ มีรายงานว่า บ้านเรือนประชาชน รวมถึงโบสถ์เก่าแก่อายุ 400 กว่าปี มีรอยแตกร้าวขาดใหญ่ที่ผนังโบสถ์ จากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว และผนังบ้านเรือนประชาชนหลายหลังแตกร้าวเสียหายอีกด้วย
ยังไม่มีคนไทย เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวในลาว แต่หลายโครงการของไทยรับรู้แรงสั่นสะเทือน
หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวใน สปป.ลาว ครั้งแรก เวลาประมาณ 04.03 น. ความรุนแรงขนาด 5.9 ลึกจากผิวดิน 5 กม.ที่ แขวงไซยะบุรี และต่อมา เวลา 06.52 น. เกิดความรุนแรงขนาด 6.4 จุดศูนย์กลางห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ระยะทาง 19 กม. ทั้งนี้ การสั่นสะเทือนค่อนข้างแรง รับรู้ได้ถึงกรุงเวียงจันทน์ สถานทูตไทย ณ เวียงจันทน์ ได้ตรวจสอบกับชุมชนไทยที่โรงไฟฟ้าเมืองหงสา ทราบว่า มีการสั่นสะเทือนในพื้นที่โครงการหลายครั้ง อาคารบริเวณโรงไฟฟ้าและที่พักได้รับความเสียหาย แต่ยังไม่มีรายละเอียด และยังไม่มีรายงานคนไทยได้รับบาดเจ็บ
ส่วนโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ เมืองไซยะบุรี ของบริษัท ช.การช่าง รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน แต่ไม่มีรายงานคนไทยได้รับบาดเจ็บหรืออาคารเสียหาย ส่วนการติดต่อชุมชนไทยในแขวงหลวงพระบาง รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว แต่ยังไม่มีข่าวสารเกี่ยวกับความเสียหาย
กฟผ. ยืนยัน ไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในลาว
เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 ความลึก 5 กิโลเมตร จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศลาว ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เหตุการณ์ส่งผลให้โรงไฟฟ้าหงสา เครื่องที่ 1 และ 2 หยุดการผลิตฉุกเฉินด้วยสัญญาณ Vibration high ขณะจ่ายโหลดรวม 985 MW และโรงไฟฟ้าหงสา เครื่องที่ 3 ลดการผลิตเหลือ 200 MW เหตุการณ์นี้ไม่มีไฟฟ้าดับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าอื่นที่ใช้ก๊าซทดแทน และทุกเขื่อนในไทยไม่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งสถานีไฟฟ้าแรงสูงน่าน หลังตรวจสอบแล้วไม่มีความเสียหายต่อมาเวลา 06.51 น. โรงไฟฟ้าหงสา เครื่องที่ 3 หยุดการผลิตฉุกเฉิน หลังเกิดแผ่นดินไหวเพิ่มเติม (After shock)
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา แถลง ไม่น่ากังวลใจ หลังแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวในลาวลดลง
น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และ นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีทรัพยากรธรณี แถลงข่าว หลังเกิดแผ่นดินไหวใน สปป.ลาว แขวงไชยบุรี ซึ่งเริ่มขึ้นช่วงเช้ามืดวันนี้เวลา 04.03 น. แรงสั่นสะเทือนขนาด 5.9 และเกิดขึ้นอีกครั้งที่จุดศูนย์กลางเดิม เวลา 06.50 น. แรงสั่นสะเทือนขนาด 6.4 ซึ่งเป็นแรงสั่นสะเทือนหลัก ก่อนขยายแรงสั่นสะเทือนเป็นอาฟเตอร์ช็อก ซึ่งพบว่าจากจุดศูนย์กลางของแรงสั่นสะเทือนฝั่ง สปป. ลาว ห่างจากบ้านน้ำช้าง ต.ขุนน่าน จ.น่าน ประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้เทคโนโลยีตรวจสอบเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง พบว่าแรงสั่นสะเทือนมีขนาดลดลงเรื่อยๆ จนไม่น่ากังวลใจ ส่วนข้อสงสัยว่า ระยะทางจากจุดศูนย์กลางที่เกิดแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 600-700 กิโลเมตร แต่ทำไมช่วงระยะทางจังหวัดต่างๆ ก่อนถึงกรุงเทพฯ ไม่เกิดการสั่นไหว แต่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สามารถรับรู้ได้ สาเหตุมาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล สภาพดินมีลักษณะนุ่ม ชั้นหินน้อย จึงมีความสั่นไหว โดยเฉพาะตึกสูง
ขณะที่นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวเพิ่มเติมถึงจุดที่ต้องเฝ้าระวังหลังเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศลาวว่า ประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่ต้องเฝ้าระวังทั้งหมด 16 รอยเลื่อน แต่รอยเลื่อนที่ต้องจับตาดูในขณะนี้คือรอยเลื่อนปัวในจังหวัดน่าน เพราะรอยเลื่อนดังกล่าวเป็นรอยเลื่อนเดียวกันกับประเทศลาว แต่ในประเทศไทยจากการศึกษาพบว่าเคยเกิดขึ้นเมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว ขนาด 6.4 ทั้งนี้หากมีการเกิดแผ่นดินไหวเกิดขึ้นตรงจุดนี้จะมีขนาด 6.4 - 6.5 โดยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลให้ในพื้นที่จังหวัดน่าน อำเภอบ่อเกลือ ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนเล็กน้อย แต่ด้วยความโชคดีที่ในพื้นที่ไม่ค่อยมีบ้านเรือนของประชาชน จึงมีความเสียหายไม่มาก
นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย เตือน อาคารสูงในกทม.รับมือแผ่นดินไหว
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวดังกล่าวเป็นแผ่นดินไหวระดับกลางและเป็นแผ่นดินไหวระยะไกลประมาณ 600-700 กม. ทำให้อาคารหลายแห่งใน กทม.ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมี 3 ปัจจัยที่แผ่นดินไหวมีผลกระทบต่ออาคารสูงใน กทม.ที่ต้องระวัง คือ 1. สภาพชั้นดินของ กทม. เป็นชั้นดินเหนียวอ่อน ดังนั้นแม้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นจากระยะไกล แต่ด้วยสภาพชั้นดินของ กทม.จะขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้อีก 3-4 เท่า ทำให้อาคารได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวดังกล่าว 2. อาคารสูง เช่น คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ที่มีความสูง 10 ชั้นมีค่าความถี่ธรรมชาติต่ำ ซึ่งเป็นค่าความถี่การสั่นของอาคารที่ใกล้เคียงกับการสั่นไหวของพื้นดิน ทำให้เกิดการสั่นเข้าจังหวะกันระหว่างพื้นดินและอาคาร ทำให้อาคารสูงมีการสั่นสะเทือนที่แรงกว่าอาคารทั่วไป และ 3. อาคารสูงหลายแห่งใน กทม. หากก่อสร้างก่อนปี 2550 มีแนวโน้มที่จะไม่ได้ออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว เนื่องจาก กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทานความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เริ่มประกาศใช้บังคับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา
สำหรับการสั่นไหวของอาคารใน กทม. เนื่องจากแผ่นดินไหวเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งในอดีต เช่น ปี 2547 เกิดแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดียขนาด 9.3 และปี 2554 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ในประเทศลาว
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ กล่าวว่า ควรให้ความใส่ใจกับแผ่นดินไหวที่มาจากทิศตะวันตกและประเทศพม่าด้วย เนื่องจากมีรอยเลื่อนที่มีพลัง คือ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ นอกจากนี้ ยังมีรอยเลื่อนสะแกงในประเทศพม่า ซึ่งอยู่ห่างในระยะประมาณ 400 กม. และอาจเกิดแผ่นดินไหวได้รุนแรงถึงขนาด 8.5 หากเกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบให้อาคารใน กทม.ได้รับความเสียหายได้ พร้อมแนะนำ ให้เจ้าของอาคารตรวจสอบอาคารของตนว่ามีรอยร้าวที่บริเวณใดบ้าง เช่น เสา คาน ผนังอาคาร เป็นเบื้องต้น และหากตรวจพบรอยร้าวก็ควรแจ้งวิศวกรเข้าตรวจสอบเหตุการณ์ด้วย
ส่งออก ต.ค.ติดลบร้อยละ 4.54
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนตุลาคม 2562 ยังติดลบในอัตราชะลอตัวลง โดยมีมูลค่า 20,757.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบร้อยละ 4.54 ขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ 20,251.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบร้อยละ 7.5 ส่งผล 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 207,329.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯติดลบร้อยละ 2.35 ขณะที่ตัวเลขนำเข้า 10 เดือนมีมูลค่าทั้งสิ้น 199,441.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบร้อยละ 4.09 ทำให้ไทยได้ดุลการค้าแยกเป็นเดือนตุลาคมอยู่ที่ 506.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และดุลการค้า 10 เดือนอยู่ที่ 7,887.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สาเหตุที่ทำให้การส่งออกของไทยและทั่วโลกเดือนตุลาคมลดลง มาจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีน แม้ว่าในช่วงนี้สถานการณ์ดูจะไม่ร้อนแรงและชะลอมาตรการตอบโต้ไปมาและอยู่ระหว่างเจรจาทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่ยังส่งผลให้หลายประเทศกังวลจะกลับมามีปัญหาอีก ส่งผลให้ยอดส่งออกโดยรวมไม่ค่อยจะดีนัก แต่ถือว่าการส่งออกติดลบในอัตราชะลอตัวลง หากหักมูลค่ากลุ่มสินค้าทองคำและน้ำมันออกไทยจะติดลบเดือนตุลาคมเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น
นอกจากนี้ แม้ตัวเลขการส่งออกเดือนตุลาคมจะติดลบ คงจะต้องมาติดตามในช่วง 2 เดือนที่เหลือปีนี้ และคาดการณ์ว่าส่งออกเดือนพฤศจิกายนยังคงติดลบและเดือนธันวาคมน่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวก ทำให้ยอดส่งออกไตรมาส 4 น่าจะขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 0.1 และส่งผลให้ยอดส่งออกทั้งปีของไทยจะติดลบเพียงร้อยละ 1.5-2 หรือมีมูลค่าการค้าอยู่ที่ 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯได้ แต่อัตราแลกเปลี่ยนจะต้องไม่แข็งค่าไปมากกว่าตอนนี้
กระทรวงพาณิชย์ได้ประเมินภาพรวมตัวเลขการส่งออกปี 2563 จะเป็นบวกได้ร้อยละ 1.5-2 หรืออาจมากกว่านี้ แต่ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างประเมินภาพรวมและปัจจัยต่างๆรอบด้านให้ชัดเจนก่อน คาดว่ากระทรวงพาณิชย์จะประกาศเป้าหมายคาดการณ์ตัวเลขส่งออกปีหน้าได้ในเร็ว ๆ นี้
"ซูจี"นำทีมกฎหมาย สู้คดีโรฮิงญาจากศาลโลก
นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา และรัฐมนตรีต่างประเทศ เตรียมนำทีมกฎหมายเดินทางไปขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลังจากรัฐบาลเมียนมาถูกทางการแกมเบียกล่าวหาในประเด็นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา โดยอ้างหลักฐานที่เชื่อได้ว่า ทางการเมียนมามีส่วนรู้เห็นต่อการสังหารหมู่ รวมถึงการข่มขืนและทำลายชุมชนชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ โดย ICJ มีกำหนดการไต่สวนคดีระหว่าง 10-12 ธันวาคมนี้
นางซูจี จะรับหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนทางกฎหมายของเมียนมา ในการต่อสู้คดีที่ศาลโลก ประกอบด้วยทนายความที่มีชื่อเสียงหลายคนรวมทีมเพื่อ"ปกป้องผลประโยชน์"ของเมียนมา นางซูจี ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย รวมถึงเธอถูกริบรางวัลที่เคยได้รับไปแล้วหลายรางวัล จากการที่หลายองค์กรมองว่า"เธอ" ซึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ได้ละเลยกับปัญหาชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาในประเทศ