กรมชลประทานแสดง 4 นวัตกรรมผลิตจากยางพาราเพื่อกำจัดวัชพืชได้ผลจริง

08 พฤศจิกายน 2562, 12:16น.


         ที่กรมชลประทานในวันนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน ซึ่งกรมชลประทานได้จัดแสดงผลงาน 4 นวัตกรรมผลิตจากยางพารากำจัดวัชพืช (ผักตบชวา) ได้แก่ ทุ่นพลาสติก HDPA ปูด้วยแผ่นยางกันลื่น เรือนวัตกรรมกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก ทุ่นดักผักตบชวา และรางวัดปริมาณน้ำชลประทาน เพื่อช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง




          นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า แม้ได้งบประมาณจากรัฐบาลปีละเกือบ 200 ล้านบาท แต่ยังไม่เพียงพอในการกำจัดผักตบชวาให้หมดไปได้ จึงต้องคิดหาวิธีการเพื่อจัดการผักตบชวาที่ขวางทางน้ำไหลในเส้นทางน้ำประมาณกว่า 40,000 กิโลเมตร โดย 4 นวัตกรรมได้ทดลองใช้ในแทบทุกพื้นที่ เช่น คลองเปรมประชากร ถือว่าประสบผลสำเร็จและได้ประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะเรือกำจัดวัชพืชที่ทำจากวัสดุอลูมิเนียมขึ้นรูปและเชื่อมประกอบ ขนาดความกว้าง 1.70 เมตร ความยาว 4.80 เมตร และความสูง 0.50 เมตร ใช้เครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 13 แรงม้า สตาร์ทด้วยมอเตอร์ (มีแบตเตอรี่) และเชือกสตาร์ท ความเร็วในการเดินเรือ ไปได้ทั้งเดินหน้าและถอยหลังในน้ำ ประมาณ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง(เบนชิน) ประมาณ 2 ลิตร/ชั่วโมง หรือประมาณ 60 บาท ต่อชั่วโมง ใช้พนักงานควบคุมบนเรือ จำนวน 1 คน ความสามารถในการเก็บวัชพืช (ผักตบชวา) ประมาณ 60 ตัน/วัน ขึ้นอยู่กับสภาพของวัชพืช และความชำนาญของพนักงานควบคุมเรือ




          นอกจากนี้ยังมีสารชีวภัณฑ์กำจัดผักตบชวา ผ่านการวิจัยเมื่อปี 2561 ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำและสัตว์น้ำ




          ลำดับที่ 3 วิธีการดักผักตบชวาด้วยทุ่นยางพาราโดยนวัตกรรมนี้มีเป้าหมายว่าจะติดตั้งทั่วประเทศ ในโครงการกรมฯ 200 โครงการๆละ 100 จุด ซึ่งจะใช้ยางพาราทั้งสิ้น 10,200 ตัน




          สุดท้ายเป็นทุ่นพลาสติก HDPE ปูแผ่นยางกันลื่นตัวทุ่นเป็นพลาสติกประเภทพอลิเอทิลีนมีความหนาสูงรองรับน้ำหนักได้ดี ซึ่งระยะ 1 ตารางเมตรใช้ยางพาราประมาณ 10 -12 กิโลกรัม ทุ่นตัวนี้มีประโยชน์ทั้งดักผักตบชวา เป็นท่าเทียบเรือใช้สัญจรในการปฏิบัติงานคลองต่างๆ และสามารถเป็นสะพานข้ามทางเวลาเกิดอุทกภัยต่างๆ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำเนินการเลยทันที เพื่อเตรียมรับมือกับภัยในอนาคต


          โดยในวันนี้กรมชลประทานได้ขออนุมัติในหลักการในปี 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้หลักไว้ถึง 2 ข้อ คือประโยชน์ ซึ่งเห็นชัดเจน และความประหยัด คือความคุ้มทุน คุ้มค่า ซึ่งต้องพิจารณาทั้งหมดให้ครบถ้วน อีกทั้งได้ของบประมาณปี 2564 เพื่อดำเนินการเป็นรูปธรรม ไว้ 2,500 ล้านบาท โดยจะต้องเตรียมทำรายละเอียดของบประมาณ หรือในกรณีเร่งด่วนอาจจะใช้งบประมาณ ปี 2563 เพิ่มเติม


...
ข่าวทั้งหมด

X