อัยการจังหวัดกาญจนบุรี ชี้โทษประหารชีวิตแก้ปัญหาอาชญากรรมไม่ได้

10 ตุลาคม 2562, 15:43น.


          วันนี้ เป็นวันยุติโทษประหารสากล (10 ต.ค.) เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต เช่น สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม สมาคมแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย และสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ได้เปิดเวทีเสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโทษประหารชีวิตระดับสากลและในประเทศไทย ถือเป็นเรื่องท้าทายมากที่จะมีการยุติโทษประหารชีวิต



          นายน้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี  มองว่า โทษประหารชีวิตไม่ใช้ทางออกของปัญหาอาชญากรรม แต่ปัจจุบันที่ประชาชนยังเรียกร้องให้มีโทษประหารชีวิตเพราะต้องการยับยั้งอาชญากรรมและต้องการให้ชีวิตปลอดภัย โดยเฉพาะสังคมไทยที่ยังคิดว่ามีบทลงโทษเบาไปต้องการโทษหนัก ๆ ในทางกลับกัน ไทยยังมีโทษประหารชีวิตอยู่ แต่ปัญหาอาชญากรรมกลับไม่ลดลง ส่วนตัวขอเสนอให้ประเทศไทยมีคณะกรรมการพิจารณา แม้ว่าศาลจะมีคำพิพากษาประหารชีวิต แต่หากคดียังคงมีข้อสงสัยอยู่ขอให้เลื่อนการประหารชีวิตไปก่อนจนกว่าจะสิ้นสงสัย



          นอกจากนั้นระบุด้วยว่าประเทศไทยมีกฎหมายรื้อฟื้นคดีอาญาแต่ไม่เคยบังคับใช้ และจุดอ่อนอีกอย่าง คืออัยการไม่มีสิทธิ์รู้เห็นพยานหลักฐานในพื้นที่เกิดเหตุได้ โดยอัยการมีสิทธิ์เพียงเชื่อพยานหลักฐานที่ตำรวจส่งมาเท่านั้น จึงขอเรียกร้องให้อัยการสามารถเข้าไปรับรู้พยานหลักฐานในที่เกิดเหตุได้ เชื่อว่าจะมีโอกาสให้ความเป็นธรรมกับประชาชนอีกมาก





          อย่างไรก็ตาม แม้สังคมไทยจะยังไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งหมด แต่ควรลดโทษประหารชีวิตในคดีที่ไม่ใช่อาชญากรรมร้ายแรง เช่น คดีวางเพลิงเผาทรัพย์ หรือคดียาเสพติด  อัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี  ฝากสังคมไทยด้วยว่า ต้นเหตุของการก่ออาชญากรรมมีหลายสาเหตุทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ปัญหาครอบครัว แต่จะโยนความผิดว่าการที่มีอาชญากรรมมากขึ้นเพราะว่าไม่มีโทษประหารชีวิตไม่ได้เพราะในความเป็นจริง ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นควรปรับปรุงกระบวนการสอบสวนที่เข้มแข็งไม่ใช่การดำเนินการเก็บพยานหลักฐานเพียงหน่วยงานเดียวและสามารถปกปิดพยานหลักฐานได้โดยที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ 





          ด้านนางฮานน์ โซฟี เกรฟ กรรมาธิการคณะกรรมการสากลต่อต้านโทษประหารชีวิต เห็นตรงกันว่า ประเทศที่มีโทษประหารชีวิตก็ไม่ได้ทำให้การก่ออาชญากรรมลดลง ไม่มีผลในการป้องกันและปรามการก่ออาชญากรรม ขณะเดียวกันในบางประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต คดีอาชญากรรมก็ไม่ได้ลดลง

ข่าวทั้งหมด

X