สภากาชาดไทย-ศูนย์เตรียมพร้อมภัยพิบัติ ยกเหตุการณ์จริงจัดทำแผนสอนเด็กๆให้หนีเอาตัวรอด

10 ตุลาคม 2562, 14:14น.


          ภัยพิบัติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว การสอนให้เด็กนักเรียนมีความรู้และความพร้อมรับมือเป็นเรื่องสำคัญ นางสุนิษฐิดา เพชรด้วง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย เล่าให้ฟังว่า บทเรียนจากเหตุการณ์สึนามิ เมื่อปี 2547 ทำให้สำนักงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้การรับมือภัยพิบัติกับเด็กนักเรียนในโรงเรียน โดยเน้นโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงประสบภัยพิบัติเริ่มจากการสอนให้เด็กนักเรียนวิเคราะห์ว่าในโรงเรียนมีพื้นที่ใดเป็นจุดเสี่ยงแล้วมาคิดว่าจะจัดการพื้นที่นั้นและทำแผนรับมืออย่างไร มีการตั้งคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติในโรงเรียนที่ประกอบด้วยอาจารย์และเด็กนักเรียนให้เข้ามามีส่วนร่วม เมื่อทำแผนเสร็จแล้วจะให้ซ้อมแผนเผชิญเหตุเพื่อประเมินว่าสามารถเอาตัวรอดได้หรือไม่ รวมทั้งการให้ความรู้เด็กในการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติต่างๆเมื่อต้องอยู่คนเดียว และการสอนให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ถนน เช่น วิธีการข้ามถนน และจะขยายเรื่องการให้ความรู้กับเด็กนักเรียนต่อไปเพื่อยกระดับให้แต่ละโรงเรียนเป็นโรงเรียนปลอดภัยในด้านภัยพิบัติ





          ด้านนายพิจิตต รัตตกุล ที่ปรึกษาพิเศษศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย บอกว่า เหตุน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 สะท้อนให้เห็นปัญหาต่างๆของโรงพยาบาล โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่สามารถย้ายผู้ป่วยออกได้ทัน เพราะไม่มีแผนการต่างๆรองรับ เช่นเดียวกับเหตุระเบิดราชประสงค์ที่หลายหน่วยงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุทำงานซ้ำซ้อนกัน ทำให้การช่วยเหลือไม่มีประสิทธิภาพ ศูนย์ฯจึงได้ออกคู่มือปฏิบัติการรับมือภัยพิบัติให้กับโรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ มีรายละเอียดบอกถึงการเผชิญภัยพิบัติที่ต่างกันว่าแต่ละภัยพิบัติหน่วยงานใดควรทำหน้าที่ใดบ้าง และการให้ความรู้ในการคัดแยกผู้ประสบเหตุก่อนเข้าโรงพยาบาล พร้อมทั้งบอกถึงแผนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติของโรงพยาบาล สำหรับวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน และวันลดภัยพิบัติสากล ซึ่งปีนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดนิทรรศการ เช่น การให้เล่นเกมเอาตัวรอดจากเหตุเพลิงไหม้ในโรงภาพยนตร์ และการสาธิตรถจำลองแผ่นดินไหว เป็นต้น





 



 

ข่าวทั้งหมด

X