ผู้ว่าฯกทม.เผยต้องตรวจสอบการใช้หอฟอกอากาศ ลดฝุ่น PM 2.5 ได้ผลหรือไม่ก่อนอนุมัติจัดซื้อ

10 ตุลาคม 2562, 12:25น.


          ความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร(กทม.)ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาคเอกชน เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ให้ความร่วมมือเป็นพื้นที่นำร่องติดตั้ง“หอฟอกอากาศ”และชำระค่าไฟเองประมาณชั่วโมงละ 10 บาทในปริมาณกำลังไฟฟ้า 3.5 kW(กิโลวัตต์) ของเครื่องฟอกอากาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะเป็นผู้ประเมินวัดคุณภาพของหอฟอกอากาศ 3 ระยะ คือ ระยะต้น 24 ชั่วโมง ระยะกลาง 3-7วัน และระยะสุดท้าย 30 วันว่าหอฟอกอากาศมีประสิทธิภาพในการฟอกอากาศได้ดีหรือไม่ ก่อนที่กทม.จะตัดสินใจซื้อ ซึ่งจะมีการทดลองติดตั้งทั่วกทม.ทั้ง 50 เขตให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้





          พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯกทม.ในฐานะผู้ดูเรื่องการติดตั้งหอฟอกอากาศ กล่าวถึงการทำงานของหอฟอกอากาศว่า หอฟอกอากาศสามารถกรองมลพิษทางอากาศได้ถึง 4 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 กรองน้ำมัน ขั้นที่ 2 กรองฝุ่นหยาบไปจนถึง PM 10 ขั้นที่ 3 กรองมลพิษทางอากาศ และขั้นที่ 4 กรองฝุ่นขนาดเล็กสุดถึง PM 1 โดยจะเปิดเดินเครื่องตั้งแต่เวลา 06.00 น.เดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเครื่องจะทำการวัดระดับฝุ่นตลอดเวลาเมื่อแผนกรองมีฝุ่นหนาเครื่องจะแจ้งเตือนให้นำแผ่นกรอง (ชนิด HEPA Filter) ทำความสะอาดทันที





           ด้านพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ย้ำว่า กทม.ยังไม่ได้ตัดสินใจจัดซื้อหอฟอกอากาศ จนกว่าการทดลองจะเสร็จสิ้น และมีการประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรมว่าใช้ได้จริงหรือไม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน ขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน หลายแห่งให้พื้นที่ติดตั้งและชำระค่าไฟฟ้าให้ โดยเฉพาะอาคารสูง,ห้างสรรพสินค้าและสถานที่จัดงานขนาดใหญ่ ส่วนกทม.จะเป็นผู้ดูแลให้ สำหรับการเปิดเดินเครื่องมา 4 ชั่วโมง ระดับค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 28 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าน่าพอใจแต่ต้องประเมินประสิทธิภาพการทำงานของหอฟอกอากาศต่อไปในระยะยาวจึงจะตัดสินใจได้



ข่าวทั้งหมด

X