ก.ดิจิทัล เพิ่มความเข้มงวดปราบปรามข่าวปลอม ผู้เผยแพร่และส่งต่อมีโทษเท่ากัน

08 ตุลาคม 2562, 11:37น.


การปฏิบัติการปราบปรามการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) หลังมีผู้ใช้งานสื่อสังคม (Social Media) เผยแพร่ข้อมูล เนื้อหาไม่เหมาะสม สร้างความเกลียดชัง นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ทั้งผู้ที่เผยแพร่ข้อความและผู้ที่นำไปเผยแพร่ต่อ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรจะมีโทษเพิ่มสูงขึ้น คือมีอัตราโทษสูงสุดจำคุก 5 ปีปรับ 100,000 บาท ส่วนผู้ที่เผยแพร่หรือส่งต่อข้อความจะมีความผิดเท่ากัน ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้นำกฎหมายคอมพิวเตอร์ฯ ไปใช้ในการกลั่นแกล้งบุคคล หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในทางการเมือง แต่ในการสืบสวนหากพบว่ามีผู้กระทำความผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องดำเนินคดีทุกกรณีโดยไม่ละเว้น 



ส่วนในการทำงานของศูนย์ต้านข่าวปลอม หรือเฟคนิวส์ จะมีหน้าที่คัดกรองข่าวที่มีเนื้อหาไม่เป็นความจริง และอาจจะกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้าง โดยเมื่อได้รับแจ้งเบาะแสข่าวปลอมมา เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบภายใน 2 ชั่วโมง จากนั้นจะเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริงให้ทราบต่อไป พร้อมฝากไปถึงร้านค้าต่างๆ ที่เปิดไวไฟ (wifi) ให้ลูกค้าใช้ได้ฟรี โดยขอความร่วมมือให้เจ้าของร้าน เก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ไว้ในฐานข้อมูลร้าน 90 วัน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อใช้ตรวจสอบย้อนหลังกรณีมีผู้กระทำผิดโดยใช้ไวไฟสาธารณะ



ขณะที่ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการ ปอท.กล่าวยืนยันว่า ประเทศไทยให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น แต่ต้องไตร่ตรองให้รอบคอบว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ มีผลกระทบสร้างความเสียหายต่อผู้อื่นหรือไม่ เพราะหากมีความเสียหายเกิดขึ้นจะอ้างว่าไม่ทราบกฎหมาย รู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่ได้



สำหรับประชาชนหากตรวจสอบแล้วพบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม บนสื่อสังคมออนไลน์หรือเว็บไซต์สามารถรายงานปิดกั้นเบื้องต้นตามช่องทางของสื่อสังคมออนไลน์แต่ละประเภทหรือแจ้งมาที่ บก.ปอท. หมายเลข 02-1422 556 และ 02-142 2557 หรือทางเว็บไซต์ tcsd.go.th เพื่อดำเนินการปิดกั้น ระงับยับยั้งตามช่องทางของกฎหมาย และสืบสวนจับกุมผู้นำเข้าเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมต่อไป



....

ข่าวทั้งหมด

X