*ปลัดก.คลังแถลงปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว 10 ปี พบขาดทุนกว่า 6 แสนล้านแบ่งเป็น ขาดทุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กว่า 5แสนล้านบาท*
การแถลงปิดโครงการรับจำนำข้าว นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีจำนำข้าว เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ได้ปิดบัญชีโครงการรับจำนำ 15 โครงการตั้งแต่ปี 2547 ถึงวันที่ 22 พ.ค. 2557 10 ปี พบผลขาดทุนทั้งสิ้น 6.82 แสนล้านบาท เป็นผลขาดทุนจาก 11 โครงการก่อน 1.63 แสนล้านบาท และเป็นผลขาดทุนจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่ง ลักษณ์ 4 โครงการ 5.18 แสนล้านบาท
จากปริมาณข้าวเปลือกจำนวน 85 ล้านตัน ใช้เงินรับจำนำข้าวทั้งสิ้น 1.1 ล้านล้านบาท มีสินค้าคงเหลือจำนวน 19.2 ล้านตัน เป็นมูลค่า 2.25 แสนล้านบาท น มีรายได้จากการระบายข้าว 3.47 แสนล้านบาท แต่มีต้นทุนถึง 1.05 ล้านล้านบาท เช่น ค่าเสื่อมสูงสุด 4 ปี ปีละ ร้อยละ 10 สูงสุดร้อยละ 40 นอกจากนี้ยังมีค่าใช้อื่นๆ เช่น ค่าเช่าโกดัง ค่าบริหารจัดการ ค่าดอกเบี้ย ค่าสีแปร เป็นต้น
สำหรับการปิดบัญชีจำนำข้าวครั้งนี้ ได้ยึดตามมาตรฐานการปิดบัญชี โดยผ่านการตรวจสอบจากสภาวิชาชีพและกรมบัญชีกลางแล้ว แต่ยังไม่รวมผลการตรวจนับสต็อกข้าวของคณะชุดตรวจนับสต็อก ซึ่งขึ้นอยู่กับ คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งมีนายกฯ เป็นประธาน ว่าจะสั่งให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป หลังจากนี้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ จะรายงานผลการปิดบัญชีครั้งนี้ต่อที่ประชุม นบข. และหากนบข. สั่งให้รวมตัวเลขกัน คาดว่า ผลการขาดทุนจากการรับจำนำข้าวจะเพิ่มขึ้นอีก แต่อย่างไรก็ดีผลการขาดทุนจะมากหรือน้อย ยังขึ้นอยู่กับผลการระบายข้าว หากระบายข้าวได้ในราคาต่ำกว่า ราคาต้นทุนหักค่าเสื่อม ผลขาดทุนจะยิ่งสูงขึ้น
หลังจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะมีการปิดบัญชีจำนำข้าวอีกรอบวันที่ 30 กันยายน 2557 เพื่อให้การปิดบัญชีเป็นไปตามกรอบงบประมาณแต่ละปี เพื่อจะได้ตั้งงบประมาณจัดสรรงบชำระหนี้คืน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ต่อไป นายรังสรรค์ กล่าวต่อไปว่า ผลการขาดทุนตัวเลขนี้ เห็นมานานแล้ว ไม่เหนือความคาดหมาย สำหรับแนวทางชำระหนี้จำนำข้าวก้อนนี้ ต้องหาแนวทางอื่นๆ แทนการตั้งงบชำระหนี้จะใช้เวลานานเกินไป เช่น การออกพันธบัตร คงจะมีการหารือกับฝ่ายนโยบายต่อไปว่าวิธีใดถึงจะเหมะสม เพื่อกระทบงบประมาณพัฒนาประเทศและหนี้สาธารณะน้อยที่สุด
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ผลขาดทุนสูง มองว่า การที่รัฐบาลแต่ละชุดเข้ามาดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการควบคุม อาจไม่รัดกุมเพียงพอจึงทำให้เกิดความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น