ปัญหาจราจรติดขัดในกรุงเทพมหานคร ถ้าจัดอันดับ ถ.สาทร คงติดอันต้น ๆ จากพื้นที่ เป็นอาคารทำงาน รร.เอกชนชื่อดัง หลายแห่ง โดยเฉพาะในช่วงเช้าและ เย็น ที่มีผู้ปกครอง รอรับ-ส่ง เด็ก ๆ จนกลายเป็น โครงการนำร่องแก้ไขปัญหา การจราจร ใช้ชื่่อว่า "สาทรโมเดล" นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันเปิดโครงการ สาทรโมเดล เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดเผยว่า ภาคเอกชนได้ร่วมมือกันหาทางแก้ไขปัญหาการจราจรบนถนนสาทรโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน ที่การจราจรติดขัดมาก
เบื้องต้นกำหนด 4 มาตราการในการแก้ไข ประกอบด้วย การจัดรถรับส่งนักเรียนโรงเรียนในเขตสาทร เพื่อลดปริมาณผู้ปกครองที่ขับรถมาส่งบุตรหลาน การรณรงค์ให้พนักงานบริษัทต่างๆ จอดรถไว้ตามห้างสรรพสินค้าชานเมือง และใช้บริการรถสาธารณะต่อมาในพื้นที่ถนนสาทร การขอให้บริษัทเอกชน เหลื่อมเวลาการเข้างานให้พนักงานสามารถเลือกเวลาเข้างานช่วง08.00-08.30น.ได้ และนับเวลาการทำงาน8ชั่วโมงตามปกติ รวมถึงปรับสัญญาณไฟจราจรบนถนนสาทรให้สั้นลงและให้สอดคล้องกับสัญญาณไฟจราจรในพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ยังมีการยกเลิกป้ายรถประจำทางบางจุดที่ทำให้การจราจรล่าช้า
จากการวางแผน คาดว่า โครงการสาทรโมเดล จะทำให้การจราจรบนถนนสาทรเหนือคล่องตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ30 ส่วนถนนสาทรใต้ก็จะคล่องตัวขึ้น ร้อยละ 20 จากเดิมที่รถยนต์สามารถทำความเร็วได้เฉลี่ยเพียง 20กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากในปัจจุบันถนนสาทรมีรถผ่านเข้าออกกว่า 3แสนคัน จากการประเมินพบว่า หากสามารถลดจำนวนรถให้ลดลง1หมื่นคันขึ้นไป ก็จะทำให้การจราจร คล่องตัวขึ้น
และหากโครงการ สาทรโมเดล สามารถแก้ไขปัญหาการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนได้ มีแนวโน้มที่จะขยายโครงการไปที่ สี่แยกวิทยุ ถ.พระราม4 ถ.นราธิวาส และถ.เจริญกรุง รวมถึงถนนสายอื่นๆต่อไป