ศาลฎีกาสหราชอาณาจักร เริ่มไต่สวนว่าพ.ร.ฎพักประชุมรัฐสภาชอบด้วยกม.หรือไม่

17 กันยายน 2562, 21:26น.



หลังจากรัฐบาลนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร มีพระราชกฤษฎีกาพักการประชุมรัฐสภาชั่วคราว 5 สัปดาห์ จนถึงวันที่ 14 ตุลาคม ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) กลุ่มหนึ่งยื่นเรื่องต่อศาลในสก็อตแลนด์ และศาลสูงในกรุงลอนดอนให้พิจารณาเรื่องนี้ ศาลทั้งสองแห่งมีคำวินิจฉัยแตกต่างกันคือ ศาลในสก็อตแลนด์ ระบุว่า พระราชกฤษฎีกาของรัฐบาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก มุ่งขัดขวางกระบวนการตรวจสอบเรื่องเบร็กซิตของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ศาลสูงในกรุงลอนดอนซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาคดีในอังกฤษและเวลส์ มองว่าเป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมายและยกคำร้องคัดค้าน ทำให้ศาลฎีกาของสหราชอาณาจักร ต้องเป็นผู้ชี้ขาดในเรื่องนี้



ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ศาลฎีกาของสหราชอาณาจักร เริ่มไต่สวนคดีนี้เป็นวันแรก โดยจะใช้เวลาพิจารณารวม 3 วัน ก่อนมีคำชี้ขาดในวันพฤหัสบดีนี้  สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ตั้งข้อสังเกตว่า มี 2 ประเด็นหลักๆที่ศาลพิจารณาคือ เรื่องอำนาจพิจารณาคือ ศาลฎีกา มีอำนาจรับคดีนี้ไว้พิจารณาหรือไม่ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ปกติศาลยุติธรรม ในฐานะองค์กรตุลาการจะยึดถือเป็นธรรมเนียมมาโดยตลอดว่าจะไม่ก้าวล่วงการตัดสินใจต่างๆของรัฐบาลในฐานะองค์กรฝ่ายบริหาร ประเด็นที่ 2 คือ ปัญหาเรื่องความชอบด้วยกฎหมายคือ พระราชกฤษฎีกาของรัฐบาลว่าด้วยการพักการประชุมรัฐสภาชั่วคราวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจอห์นสัน ระบุเหตุผลเรื่องนี้ว่าเพื่อจะได้เริ่มต้นสมัยประชุมใหม่ของสภา พร้อมทั้งเริ่มพิจารณาหัวข้อประชุมใหม่ๆ แต่ผู้คัดค้านมองว่า เหตุผลที่แท้จริงคือรัฐบาลต้องการจะลดระยะเวลาการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องเบร็กซิต เพื่อป้องกันไม่ให้ที่ประชุมส.ส.ขัดขวางแผนของรัฐบาลที่จะถอนตัวออกจากอียูแบบไร้ข้อตกลงภายในกำหนดคือวันที่ 31 ตุลาคมนี้



ทีมต่างประเทศ



แฟ้มภาพ  



 



 




 

ข่าวทั้งหมด

X