กรมชลประทาน ลดการระบายน้ำท้ายเขื่อน บริหารจัดการลุ่มน้ำชี-มูล

11 กันยายน 2562, 11:40น.


การจัดการน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน ลุ่มน้ำชี มูล โดยมีนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน สรุปสถานการณ์อิทธิพลของพายุโพดุล และคาจิกิส่งผลทำให้เกิดฝนตกหนักตั้งแต่วันที่  26 สิงหาคมถึง 5 กันยายน 2562  และเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 1,479,519 ไร่  ใน 80 อำเภอ 80 อำเภอ ใน 8 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ มุกดาหาร อุบลราชธานี และมหาสารคาม กรมชลประทาน ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำจำนวน 60 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำจำนวน 160 เครื่องและกาลักน้ำจำนวน 34 ชุดเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง คาดว่า สถานการณ์น้ำจะเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. และกลับสู่สภาวะปกติในสิ้นเดือนนี้ 




 


สำหรับการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมสูง รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้ชะลอการระบายน้ำจากแม่น้ำชีตอนบนของเขื่อนมหาสารคาม ด้วยการลดการระบายน้ำให้เหลือ 10 เซนติเมตรและการควบคุมการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวน 23 แห่งด้านท้ายเขื่อนมหาสารคาม พร้อมปรับลดอัตราการระบายน้ำให้เหลือวันละ36 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยทยอยปรับลดอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ 


 


ส่วนแม่น้ำมูลจะชะลอน้ำ ที่เขื่อนราษีไศลให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านท้ายน้ำและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมปรับลดการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวน 57 แห่ง รวมถึงการชะลอน้ำในลำน้ำเซบาย จังหวัดอำนาจเจริญและอุบลราชธานี รวมทั้งลำน้ำโดมใหญ่และลำน้ำสาขาอื่นๆเพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำและเฝ้าระวังน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ M 7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตยอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ให้อยู่ในอัตรา   4,600  ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  คาดการณ์ว่า หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติมในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี ปริมาณน้ำสูงสุด ที่จะไหลผ่านสถานีวัดน้ำ M7 ในช่วงเวลาประมาณ 11.00 น.ถึง 13.00 น.ของวันที่ 13 กันยายนนี้อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 4,800 ถึง 4,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังในส่วนด้านขวาของลำน้ำมูลหรือบริเวณพื้นที่อำเภอวารินชำราบ ซึ่งจะมีน้ำสูงขึ้นไม่เกิน 10 เซนติเมตรแต่จะไม่มีผลกระทบหรือสร้างความเสียหายเพิ่มเติม สำหรับการคาดการณ์พายุที่จะเข้ามาหลังจากนี้เบื้องต้นพบว่ามีการก่อตัวขึ้นภายในมหาสมุทรแต่ยังไม่พบว่าจะส่งผลกระทบหรือเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่


 


ผู้สื่อข่าว ปิยะธิดา เพชรดี 
ข่าวทั้งหมด

X