เตรียมยกร่างกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์

21 สิงหาคม 2562, 16:47น.


การใช้งานสื่อออนไลน์มีประโยชน์ แต่ในเวลาเดียวกันก็อาจกลายเป็นเครื่องมือของการก่ออาชญากรรมได้ อย่างกรณีของ ด.ญ.เอ (นามสมมุติ) อายุ 15 ปี หนึ่งในเยาวชนที่เคยถูก ด.ช.บี (นามสมมติ) อายุ 16 ปี หลอกลวงผ่านเฟซบุ๊กจนตกลงปลงใจคบหา และนัดหมายไปพบกันครั้งแรก ด.ญ.เอ เล่าว่า ในวันนั้นเธอรู้สึกเบื่อเมื่ออีกฝ่ายชวนไปเที่ยวตลาดนัดสวนจตุจักรจึงตกลงไปหา แต่ ด.ช.บี กลับพาเธอไปที่บ้านพักที่อยู่ในจังหวัดนนทบุรี และไม่ยอมพาเธอไปส่งบ้าน ทั้งเธอเองก็ติดต่อที่บ้านไม่ได้ เพราะโทรศัพท์แบตเตอรี่หมด แต่จากการสอบถาม ด.ญ.เอ บอกว่า เธอไม่ได้รู้สึกกังวลอะไร ทั้งยอมรับว่ามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับด.ช.บีตั้งแต่เวลานั้น



ตรงข้ามกับครอบครัวของ ด.ญ.เอ ที่พ่อเล่าว่า ออกตามหาลูกสาวตลอดทั้งวัน ทั้งไปแจ้งความไว้ที่ สภ.บางใหญ่ รวมถึงแจ้งข่าวทุกช่องทางให้ช่วยตามหาลูกสาว จนกระทั่งเวลาผ่านไปข้ามวัน จนถึงเวลา 16.00 น.ลูกสาวถึงกลับมา และได้รับรู้ว่า ด.ช.บี มาส่ง พ่อยอมรับว่าเสียใจมากที่เกิดเรื่องในครั้งนี้ ทั้งโทษตนเองที่ไม่มีความรู้ ไม่รู้จักภัยจากสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ไม่รู้เท่าทัน ไม่เคยแนะนำลูกในเรื่องภัยออนไลน์ จึงอยากให้เรื่องนี้เป็นบทเรียนต่อผู้ปกครองคนอื่นๆ



ปัญหาเรื่องราวของเยาวชนที่เกิดขึ้น สอดคล้องกับรายงานของ กรมกิจการเด็กและเยาวชน โดยศูนย์ประสานงานส่งเสริมการป้องกันคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ หรือ โคแพท และสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน ที่ร่วมกันสำรวจผ่านทางออนไลน์ เรื่องเด็กไทยกับภัยออนไลน์ กับเยาวชนกลุ่มตัวอย่างกว่า 15,000 คน ตอบแบบสอบถาม พบว่าเยาวชน จำนวน 1 ใน 4 รวม 3,892 คนหรือร้อยละ 25.4 ทั่วประเทศเคยนัดพบกับเพื่อนออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง โดยพบว่าเด็กกว่า 73 คน หรือร้อยละ 1.9 ถูกหลอกไปล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลย



นายอนุกูล ปีดแก้ว รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน หรือ ดย.ในฐานะหน่วยงานการป้องกันคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ ยอมรับว่า พ่อแม่ เด็ก รวมถึงผู้ปกครองยังไม่รู้เท่าทันภัยจากสื่อออนไลน์ รวมถึงกฎหมายในการคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ก็ยังตามไม่ทัน



ดังนั้น การช่วยเหลือ ป้องกัน ภัยออนไลน์อันดับแรก จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ ดย. มีคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็กให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาและยกร่างกฎหมายในการป้องกันคุ้มครองเด็กจากการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแบบออนไลน์ เพื่อป้องกันบุคคลใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือในการกระทำผิด



รวมทั้งเตรียมจัดทำแอปพลิเคชั่น และคู่มือออนไลน์ การรู้เท่าทันภัยออนไลน์ เพื่อเป็นสื่อให้สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็ก เช่นผู้ปกครอง โรงเรียน ช่วยกันตักเตือน แนะนำ ข้อมูลจากสื่อเพื่อให้เห็นภัยจากสื่อออนไลน์ และยังมีสายด่วนหมายเลขโทรศัพท์ 1300 ของศูนย์ช่วยเหลือสังคมที่รับแจ้งเหตุให้การช่วยเหลือ และมีหน่วยเคลื่อนที่ลงพื้นที่เกิดเหตุ เป็นแนวทางในเชิงแก้ไขเบื้องต้นเมื่อมีเหตุ ขณะเดียวกันผู้ปกครองก็สามารถขอคำแนะนำในเรื่องภัยจากสื่อออนไลน์จากนักสังคมสงเคราะห์ คอยตอบคำถามและให้คำแนะนำ



 



ผสข.อรอุมา แคนดา

ข่าวทั้งหมด

X