กรมกิจการเด็กฯ แนะครอบครัวให้เวลากับเด็กเยาวชนมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยออนไลน์

19 สิงหาคม 2562, 11:37น.


ภัยจากสื่อสังคมออนไลน์ กำลังเป็นภัยคุกคามเด็กและเยาวชนมากขึ้น ตามรายงานของกรมกิจการเด็กและเยาวชน โดยศูนย์ประสานงานส่งเสริมการป้องกันคุ้มครองเด็ก และเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ หรือ โคแพท และสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน ร่วมกันทำแบบสำรวจ เรื่องภาพรวมสถานการณ์และผลสำรวจเด็กกับภัยออนไลน์  ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยหรืออนุกรรมการส่งเสริมการป้องกันคุ้มครองเด็ก และเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจเยาวชนผ่านทางออนไลน์อายุ 6-18 ปี จำนวน 15,318 คน ทั้งประเทศ ตั้งแต่กุมภาพันธ์-เมษายน 2562 พบว่าเด็กเกือบทั้งหมดเห็นว่าอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์ แต่ในเวลาเดียวกันก็ตระหนักเรื่องภัยอันตรายและความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือร้อยละ 86 เชื่อว่าตนเองสามารถให้คำแนะนำช่วยเหลือเพื่อนที่ประสบภัยออนไลน์ได้ ขณะที่ร้อยละ 54 เชื่อว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับตนเองสามารถจัดการปัญหาได้ และเด็กกว่าร้อยละ 83 ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน โดยร้อยละ 38 ใช้เพื่อเล่นเกมออนไลน์มากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเป็นเวลามากเกินไป และจะส่งผลต่อสุขภาพจิต



ขณะเดียวกันผลสำรวจพบว่าเยาวชนจำนวน 1 ใน 4 รวม 3,892 คน หรือร้อยละ 25.4 เคยนัดพบกับเพื่อนออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง และหลายคนยอมรับว่าถูกเพื่อนที่นัดพบกระทำ โดยเป็นกรณีที่ถูกพูดจาล้อเลียน ดูถูก ทำให้เสียใจกว่า 199 คน หรือร้อยละ 5.1, ถูกหลอกให้เสียเงินหรือเสียทรัพย์สินอื่น ๆกว่า 80 คน หรือร้อยละ 2.1, ละเมิดทางเพศกว่า 73 คน หรือร้อยละ 1.9



อย่างไรก็ตามเยาวชนร้อยละ 40.4 ไม่เคยปรึกษาหรือบอกใครเรื่องโดนกลั่นแกล้งทางออนไลน์หรือถูกคุกคามทางเพศ และพบว่าเด็กผู้หญิงมักถูกกลั่นแกล้งมากกว่าเด็กผู้ชาย



ผลสำรวจยังพบว่าร้อยละ 43.7 เยาวชนรู้จักรับมือการถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ด้วยการบล็อกบุคคลเคยกลั่นแกล้ง โดยร้อยละ 38.1 ลบข้อความหรือภาพที่ทำให้อับอาย และร้อยละ 31.2 เปลี่ยนการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในการติดต่อเพื่อความปลอดภัย



ทั้งนี้ ดร.ศรีดา แนะ 7 แนวทางการเลี้ยงลูกยุคดิจิทัลไว้ว่า พ่อแม่ควรให้ความรักและเวลาคุณภาพ รับฟังมากกว่าสั่งสอน ช่วยลูกสร้างทักษะชีวิต ฝึกระเบียบวินัยในการควบคุมตนเองและความรับผิดชอบตั้งแต่ลูกยังเล็ก ลดโอกาสในการเข้าถึงโทรศัพท์มือถืออินเทอร์เน็ตและเกม สอนให้มีทักษะรู้เท่าทันสื่อและความฉลาดทางดิจิทัล และมีทางออกเชิงสร้างสรรค์อื่นๆ เช่น เพิ่มกิจกรรมดนตรี กีฬา และศิลปะ นอกจากนี้ยังแนะแนวทางป้องกันลูกติดเกมส์ด้วยว่า พ่อแม่ควรส่งเสริมด้านกีฬาทดแทนการเล่นเกม ส่งเสริมดนตรี ศิลปะทดแทนการดูจอแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน นำไปสู่การหลีกเลี่ยงให้ลูกเล่นเกมต่อสู้ รุนแรง เติมเงินเดิมพันในการเล่นเกม รวมถึงการดูสื่อบันเทิงที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ตลอดจนการเรียกร้องทุกภาคส่วนออกมาตรการปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ เป็นกรณีเร่งด่วน



...



ผสข.อรอุมา แคนดา 

ข่าวทั้งหมด

X