นักวิจัย ขยายสายพันธุ์ศึกษาวิจัยกัญชงใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

25 กรกฎาคม 2562, 18:20น.


ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะรู้จักกัญชา ทั้งในเรื่องเป็นสารเสพติดผิดกฎหมายและการศึกษาวิจัยใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ขณะที่ กัญชง หรือแฮมพ์ เป็นพืชตระกูลเดียวกัน อยู่ระหว่างการผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจ วันนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด  หรือป.ป.ส. ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าเรื่องการปลูกกัญชง  ที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ  จังหวัดเชียงใหม่  เนื่องจากพื้นที่นี้เป็น 1ใน15แห่งทั่วประเทศที่ภาครัฐอนุญาตให้ปลูกกัญชงได้ โดยอนุญาตให้ปลูกในเนื้อที่3ไร่ มีการวิจัยศึกษาต้นกัญชงแบบครบวงจร



นางสริตา ปิ่นมณี นักวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์กรมหาชน) อธิบายว่า ในปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabidiol : CBD) ให้มีค่าสูงขึ้นอย่างน้อยร้อยละ10 เพื่อนำไปใช้ทางการแพทย์  ภายในกัญชง ก็มีสาร THC ที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทเหมือนกับกัญชา แต่กัญชงจะมีอัตราส่วนน้อยกว่ากัญชามีเพียงร้อยละ1 เท่านั้น และในปัจจุบันได้รวบรวมกัญชงสายพันธุ์ไทยได้กว่า 20 สายพันธุ์ หากนำมาสกัดเพื่อจะใช้ ยังถือว่าผลิตได้น้อย ดังนั้นจะต้องมีการศึกษาวิจัยขยายสายพันธุ์ของกัญชง  รวมถึงนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากยุโรป สหรัฐอเมริกาและแคนาดา เพื่อนำมาพัฒนาสายพันธุ์ให้มีคุณภาพและนำไปใช้ทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพด้วย 





ด้านนายวาทิน ดำรงเลาหพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบัน​สำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. กล่าวว่า ปัจจุบันการปลูกกัญชงและกัญชายังผิดกฎหมายเพราะมีสารTHC ที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทเป็นส่วนประกอบ แต่กัญชงเปิดโอกาสให้สามารถปลูกในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตและเป็นพืชเศรษฐกิจ แต่หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับฝ่ายกฎหมายผลักดันแก้ไขเพื่อให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้องต่อไป นอกจากจะพัฒนาใช้ในทางการแพทย์แล้ว กัญชงยังสามารถใช้ทำอย่างอื่นได้อีกมากมาย  เช่น เส้นใย ทำเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า,แกน ทำวัสดุก่อสร้างคอนกรีต เพราะช่วยรับแรงดี น้ำหนักเบา ทนความร้อนได้ ,เมล็ด สกัดน้ำมันโอเมก้า3 เปรียบเท่าน้ำมันปลาจากทะเลลึกได้





ผู้สื่อข่าว:ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ 




 



 



 




 

ข่าวทั้งหมด

X