ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเตือนสถานการณ์มาลาเรียดื้อยาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

23 กรกฎาคม 2562, 09:03น.


สำนักข่าวบีบีซี เปิดเผยรายงานผลการวิจัยเรื่องมาลาเรีย ฟิวเจอร์ส ฟอร์ เอเชีย ที่พบว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสถานการณ์ของโรคมาลาเรียที่เชื้อดื้อยารักษา จากที่โดยทั่วไปจะเป็นการรักษาโดยใช้ยา 2 ชนิดควบคู่กัน (Artemisinin และ Piperaquine) จึงจะต้องมีเครื่องมือใหม่ในการต่อสู้กับโรคที่มีความรุนแรงขึ้น และการสร้างความรู้และความชำนาญในการควบคุมโรค ที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาการให้บริการสาธารณสุขพื้นฐาน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการกำจัดโรคภายในปีพ.ศ. 2573



รายงานฉบับนี้ นำเสนอผลการทำงานและแนวคิดของผู้ดำเนินงานด้านโรคมาลาเรีย นักวิจัย และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรในกัมพูชา อินเดีย เมียนมา ไทยและเวียดนาม ที่พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อต่อพันคนลดลงกว่าร้อยละ 60 นับจากปี พ.ศ.2553 จนทำให้ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าภูมิภาคเอเชียจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการกำจัดเชื้อมาลาเรียประเภทที่มีความรุนแรงมากที่สุดได้ แต่มีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเชื้อที่ดื้อยา นอกจากนี้โรคมาลาเรียที่ยังระบาดอยู่ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่จะปรากฏอยู่ในพื้นที่ป่าที่เข้าถึงยากและประชากรที่อาศัยอยู่ไม่เป็นหลักแหล่งหรือผู้อพยพ พื้นที่เหล่านี้มักจะเป็นพื้นที่ชายแดนที่ห่างไกล ดังนั้นการเก็บข้อมูลและสร้างความเชื่อมั่นว่าผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับการวินิจฉัย การรักษาและการดูแลจึงเป็นเรื่องท้าทาย



ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เปิดเผยว่า จากการแพร่กระจายและความต้านทานที่เพิ่มขึ้นทำให้นักวิจัยต้องเร่งการทำงาน เพื่อให้มีการรักษาทางเลือกใหม่ โดยการใช้ยาที่แตกต่างออกไป หรืออาจต้องเพิ่มยาเป็น 3 ชนิด



ดร.ศรีนาถ เรดดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งอินเดีย และประธานร่วมของการศึกษา MalaFAsia กล่าวว่าการพัฒนาระบบการดูแลขั้นพื้นฐานที่ครอบคลุมมีความสำคัญมาก เนื่องจากภูมิภาคเอเชียยังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคเรื้อรังที่มีมากขึ้น



โรคมาลาเรียมียุงก้นปล่องเป็นพาหะ ประชากรร้อยละ 36 ของประชากรจากกว่า 90 ประเทศทั่วโลกอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการแพร่กระจายของโรคมาลาเรีย สำหรับประเทศไทยมาลาเรียยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญเช่นกัน แม้ว่าโรคนี้จะมีอัตราป่วยและอัตราตายลดลง แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 เป็นต้นมา อัตราป่วยและอัตราตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น



...

ข่าวทั้งหมด

X