กระทรวงเกษตรฯ และกรมชลประทาน วางแผนกักเก็บน้ำและใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

12 กรกฎาคม 2562, 10:51น.


แม้ตอนนี้จะอยู่ในช่วงฤดูฝน แต่หลายพื้นที่ยังประสบปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง


นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ปริมาณฝนโดยรวมของประเทศในปีนี้ จะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 5-10 น้อยกว่าปีที่แล้วร้อยละ 3 นอกจากนี้สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน. ยังได้คาดการณ์ว่า จะเกิดภาวะฝนตกน้อยตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ น้อยลง จำเป็นต้องวางแผนใช้น้ำอย่างระมัดระวังตั้งแต่ตอนนี้ เนื่องจากตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม มีปริมาณและการกระจายของฝนลดลงอาจก่อให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แห้งแล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ขอให้ประชาชนอย่าตกใจว่าจะเกิดภัยแล้งมาก สถานการณ์ในปีนี้ยังไม่แล้งเท่าปี 2558 แต่ขอให้ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด 




ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึง สถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำว่า ข้อมูลวันที่ 11 กรกฎาคม อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง มีปริมาณกักเก็บน้ำ 35,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถนำน้ำไปใช้ได้ 11,572 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 แห่ง มีปริมาณกักเก็บน้ำ 1,904 ล้านลูกบาศก์เมตร นำน้ำไปใช้ได้ 1,521 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ขณะนี้มีปริมาณน้ำในอ่างขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศรวม 37,018 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 49 และสามารถนำน้ำมาใช้ได้ 13,093 ล้านลูกบาศก์เมตร


ส่วนปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขณะนี้มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,596 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,900 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 16,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้มีพื้นที่เฝ้าระวังในเขตชลประทาน 22 จังหวัด คือ ภาคเหนือ 7 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ภาคกลาง 5 จังหวัด ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ซึ่งกรมชลประทานวางมาตรการรองรับสถานการณ์ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 1,935 เครื่อง ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่, จัดรอบเวรการใช้น้ำ, กำจัดผักตบชวา วัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ, แนะนำให้เกษตรกรทยอยปลูกพืชเมื่อมีฝนตกอย่างสม่ำเสมอในพื้นที่ และให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่วนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ให้ผันน้ำเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำ โดยการสูบน้ำอ่างประแสร์-อ่างทองใหญ่ ระบบผันน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต-อ่างบางพระ


สำหรับการช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงประสบภัยแล้งในพื้นที่นอกเขตชลประทาน 21 จังหวัด กรมชลประทานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสนับสนุนเครื่องมือต่าง ๆ เข้าไปช่วยเหลือ เติมแหล่งน้ำดิบของการประปาเทศบาล และมีการประชุมร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาคเพื่อหาแนวทางการแก้ไขต่อไป 


ส่วนกรณีที่แม่น้ำชี บริเวณแพตาพลู ทะเลร้อยเอ็ดและสะพานข้ามแม่น้ำชี อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ดมีสภาพแห้งขอดจนสามารถเดินข้ามไปอีกฝั่งได้ ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม กรมชลประทานได้เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนลำปาวผ่านอาคารน้ำลงลำน้ำเดิม วันละ 0.80 ล้านลูกบาศก์เมตร จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ ขณะเดียวกันได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนร้อยเอ็ดจากวันละ 0.26 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็นวันละ 0.35 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นตามลำดับ 


ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยืนยันว่ากรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม หน่วยฝนหลวงและการบินเกษตรกว่า 11 หน่วยทั่วประเทศได้ขึ้นบินทำฝนหลวงรวมกว่า 3,300 เที่ยวบินและจะบินไปจนถึงเดือนตุลาคม โดยในปีนี้ยังถือเป็นสถิติที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรขึ้นบินปฎิบัติการฝนหลวง สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่การทำฝนหลวงในแต่ละวันก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ว่ามีความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลม หรือเมฆสามารถยกตัวในอากาศ และโอกาสเกิดฝนได้มากน้อยเพียงใด


...


ผสข.ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ 
ข่าวทั้งหมด

X