หลังจากที่เมื่อวานนี้ นายวรท ตู้วิเชียร บุตรชาย นายวรพันธุ์ ตู้วิเชียร หรือผู้ใหญ่วอ เจ้าของร้านเอซี บาร์ ที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ผู้เสียหายทางสังคมออนไลน์ว่า เป็นผู้มีอิทธิพลและเกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ บนเกาะเต่า ได้ให้แพทย์เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ บริเวณเหยื่อบุกระพุ้งแก้มไปตรวจพร้อมกับแพทย์นิติเวชจาก 3 สถาบัน ประกอบด้วย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลศิริราช ไปตรวจพิสูจน์ ผลการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอในส่วนของนิติเวช รพ.ตำรวจ ระบุว่า ผลการตรวจเทียบเคียงดีเอ็นเอของนายวรท กับวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ พบว่า ดีเอ็นเอไม่ตรงกันกับวัตถุพยานใดๆ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ผลการตรวจดีเอ็นเอของสามสถาบัน คือโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลศิริราช ตรงกับนิติเวช รพ.ตำรวจ
พล.ต.ท. ประวุฒิ ชี้แจงว่า ผลตรวจดีเอ็นเอ พิสูจน์เนื้อเยื่อในกระพุ้งแก้ม และ เลือด เทียบเคียงกับผลดีเอ็นเอที่ก้นบุหรี่ วัตถุพยานจากที่เกิดที่เหตุ เทียบเคียงกับผลดีเอ็นเอ ในร่างของนักท่องเที่ยวหญิงผู้เสียชีวิต พบว่า ดีเอ็นเอไม่ตรงกัน ทั้ง 2 กรณี และยังได้นำผลเทียบเคียงกับนายวรพันธุ์ ผู้เป็นบิดา ว่า ดีเอ็นเอตรงกันเป็นบุตร บิดา กันจริง ซึ่งจากผลการตรวจสอบ 2 พ่อลูกไม่เกี่ยวข้องกับคดี จึงไม่มีความจำเป็นต้องส่งผลตรวจให้กับทางการอังกฤษ เพราะอังกฤษไม่ได้ติดใจในกระบวนการสืบสวนสอบสวนคดี เพราะนายวรท ไม่ใช่ผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ ตั้งแต่แรก แต่การตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอเป็นตวามประสงค์ของนายวรพันธุ์ ที่ต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบุตรชาย ต่อสังคม ที่มีบางกลุ่มต้องข้อสงสัย ว่าบุตรชาย มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ นอกจากนี้วอนสื่อสังคมออนไลน์ใช้ดุลยพินิจรับข่าวสาร ระบุเจ้าของเพจที่โจมตีการทำงานตำรวจมีส่วนเชื่อมโยงกับการเมืองที่ต้องการดิสเคตดิตขบวนการยุติธรรมไทยและรัฐบาล โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามตัวมาขยายผล
ด้านนายธวัชชัย เสียงแจ้ว อธิบดีอัยการภาค 8 ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานพนักงานอัยการในคดี กล่าวว่า การรวบรวมสำนวนคดี อยู่ระหว่างการรอผลสอบสวนเพิ่มเติมจากพนักงานสอบสวน ตามที่พ่อแม่ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรม และพนักงานอัยการให้ไปสอบเพิ่มเติมเพื่อความเป็นธรรมตามที่คู่ความในคดีร้องมา ซึ่งมีประเด็นเพิ่มมากกว่าเดิม และไม่สามารถเปิดเผยได้ หากส่งผลสอบกลับมาครบถ้วนเมื่อไหร่ คาดว่าใช้เวลาไม่นาน อัยการจะสามารถสั่งคดีได้ ซึ่งการสั่งคดีอาจจะไม่ทันฝากขังผู้ต้องหาผัดที่ 4 อย่างไรก็ตาม สามารถฝากขังได้ทั้งหมด7ครั้ง เป็นระยะเวลารวม 84 วัน ส่วนกรณีการแจ้งให้ทางญาติผู้เสียหายที่ประเทศอังกฤษทราบถึงสิทธิการเป็นโจทก์ร่วมฟ้องกับพนักงานอัยการในคดีอาญา และสิทธิในการเรียกร้องสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 44(1) ยังไม่มีการตอบกลับมา เนื่องจากเป็นการประสานระหว่างประเทศหลายขั้นตอน ตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือทางอาญา หรือทางญาติผู้เสียหายอาจจะรอผลการสั่งคดีของอัยการก่อน ค่อยมาฟ้องเพิ่มทีหลังก็ได้ ส่วนการที่ทางพ่อแม่ผู้ต้องหาและสถานทูตพม่าขอให้สภาทนายเข้ามาช่วยเป็นทนายในคดี ถือเป็นเรื่องปกติในคดีอาญาทั่วไป ในการที่จะต่อสู้คดีกัน