การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 36 คน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกมธ.ยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะลงนามแต่งตั้งคณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 36 คน ในวันที่ 4 พ.ย. จากนั้นจะนัดประชุม กมธ.ยกร่างฯ ครั้งแรกในสัปดาห์หน้าทันที อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกระหว่างที่รอ สปช.ส่งข้อเสนอแนะมา คณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยลงพื้นที่ในแต่ละภาค และจะรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนอื่นๆ ด้วย ทั้งคณะรัฐมนตรี(ครม.) รวมถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เมื่อได้รับข้อเสนอแนะจากสปช. ก็จะประชุมกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจน และจะมีเวลาอีกประมาณ 5 เดือนครึ่ง ในการรับฟังข้อเสนอแนะก่อนจะออกมาเป็นร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.เลิศรัตน์ ยืนยันว่า รายชื่อคณะกมธ.ยกร่างฯ ทั้งหมดไม่มีการล็อคสเปค และจาก 25 รายชื่อที่ผ่านการคัดสรร พบว่ามีความหลากหลายจากทุกสาขาอาชีพ มั่นใจว่า รัฐธรรมนูญจะเป็นที่ยอมรับของประชาชน ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ เพราะในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ รวมทั้งจะเป็นการสิ้นเปลือง งบประมาณกว่า 2,500 ล้านบาท และใช้เวลาในการดำเนินการนานกว่า 3 เดือน ดังนั้น การจัดทำประชาพิจารณ์ก็น่าจะเพียงพอต่อการรับฟังความคิดเห็นแล้ว สำหรับความคืบหน้าในการจัดทำข้อบังคับการประชุม สปช. พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดทำข้อบังคับแล้วเสร็จครบถ้วน และจะบรรจุเข้าที่ประชุม สปช.เพื่อลงมติในวันที่ 3 พ.ย.นี้ พร้อมตั้งกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อพิจารณา 3 วาระ หากไม่แล้วเสร็จภายใน 1 วัน ก็จะประชุมต่อในวันรุ่งขึ้น พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการทั้ง 17 คณะ ในทันที ทังนี้ ในรายละเอียดของข้อบังคับการประชุม สปช.จะแตกต่างจากของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเล็กน้อย ยกเว้นเรื่องการพ้นสมาชิกภาพหากสมาชิกไม่เข้าร่วมลงมติเกิน 1 ใน 3 ของการประชุม