มาเลเซียเผชิญปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ

12 พฤษภาคม 2562, 10:51น.


อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับสองของโลก กำลังพบอุปสรรคครั้งใหญ่ เนื่องจากปริมาณความต้องการน้ำมันปาล์มในตลาดโลกที่ลดลงตั้งแต่ช่วงต้นปี ประกอบกับบทสรุปจากคณะกรรมาธิการยุโรปหรืออีซีเมื่อเดือนมีนาคมว่า รัฐบาลในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหรืออียู ควรออกมาตรการห้ามใช้น้ำมันปาล์มในภาคขนส่งภายในปี 2573 เพื่อลดปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม แม้ว่าบรรดานักการเมืองในมาเลเซียจะพยายามเรียกร้องให้มีการตอบโต้อียู แต่ด้วยสภาวะราคาผลปาล์มตกต่ำ ประกอบกับปัญหาแมลงศัตรูพืชและปริมาณผลผลิตจากสวนที่ลดลง ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกสวนปาล์มยิ่งเผชิญปัญหาหนักขึ้น จนเกษตรกรบางรายเริ่มทบทวนว่าจะหันไปปลูกพืชอย่างอื่นทดแทน นายอิบราฮิม มานับ เกษตรกรวัย 58 ปีจากเมืองฮูลู สลังงอร์กล่าวว่าเขาปลูกสวนปาล์มมาได้ 7 ปี ในช่วงแรก ปาล์มมีราคาสูงราวตันละ 450 – 540 ริงกิต หรือราว 3,400 – 4,100 บาท แต่ปัจจุบัน ราคาลดลงมาเหลือประมาณตันละ 320 ริงกิตหรือราว 2,400 บาทเท่านั้น เมื่อต้องหักค่าจ้างแรงงานและค่าขนส่งอีกกว่า 75 ริงกิตต่อตัน หรือราว 570 บาท ทำให้เขาเหลือเงินจากการทำสวนปาล์มไม่มากนัก และที่ผ่านมาเขาได้พยายามลดต้นทุนด้านอื่น เช่น การใส่ปุ๋ยมูลไก่แทนปุ๋ยเคมีแล้ว



ข้อมูลเมื่อเดือนธันวาคม 2561 ระบุว่า มาเลเซียมีพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันทั้งหมด 5,849,000 เฮกตาร์ หรือประมาณ 36,556,250 ไร่ ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งตั้งอยู่ในคาบสมุทรมลายู ส่วนที่เหลืออยู่ในรัฐซาบาห์และซาราวัก ด้านรัฐมนตรีอุตสาหกรรมของมาเลเซีย เปิดเผยว่า รัฐบาลควบคุมพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยไม่อนุญาตให้มีการขยายพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกร





**10.33F174**



 

ข่าวทั้งหมด

X