นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส.อนุมัติวงเงินรวม 24,200 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหายางพาราและเกษตรกรชาวสวนยางในภาวะที่ราคาตกต่ำ แบ่งเป็น 3 โครงการ คือ โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริมด้านเกษตรกร และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง คาดว่าจะสามารถเริ่มจ่ายได้กลางเดือน พ.ย. นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า 3 โครงการที่ ธ.ก.ส.จะช่วยชาวสวนยาง ได้แก่ 1.โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ใช้สินเชื่อจาก ธ.ก.ส.วงเงิน 8,200 ล้านบาท สำหรับจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งมีพื้นที่สวนยางเปิดกรีดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีเอกสิทธิ ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ เป้าหมาย 850,000 ครัวเรือน ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน โดย ธ.ก.ส.คิดต้นทุนในอัตรา FDR+1 และขอจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อชำระคืนต้นเงินจากการดำเนินงานตามโครงการ 2.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย เพื่อประกอบอาชีพเสริมด้านเกษตรกร โดยสนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริมด้านการเกษตรหรือเกี่ยวเนื่อง ตามศักยภาพของตัวเองและตามสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มรายได้ วงเงินสินเชื่อเป็นไปตามแผนการผลิตของเกษตรกร วงเงิน 10,000 ล้านบาท ครัวเรือนละไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป้าหมายเกษตรกร 100,000 ครัวเรือน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี โดยเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 2 รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาการชำระเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี 3.โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยให้องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) กู้เงินจาก ธ.ก.ส.เพื่อรับซื้อยางในราคายางตกต่ำวงเงิน 6,000 ล้านบาท ระยะเวลา 18 เดือน โดยรัฐบาลชดเชยต้นทุนเงินให้ ธ.ก.ส. ในอัตรา FDR+1 คาดว่าจะทำให้เกิดการแข่งขันส่งผลให้ราคาสูงขึ้นอยู่ในระดับที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม ที่ประชุมคณะกรรมการยังได้เสนอให้ ธ.ก.ส.หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับหลักเกณฑ์ให้กระชับมากขึ้นในส่วนโครงการที่จ่ายชาวสวนยางในอัตราไร่ละ 1,000 บาท เพื่อให้การจ่ายเงินเป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้อง รัดกุม ตรวจสอบได้ โดยจะเสนอให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง ภายในวันที่ 4 พ.ย.นี้ ก่อนเริ่มจ่ายชาวสวนยางได้กลางเดือน พ.ย. และให้ ธ.ก.ส.ประสานกรมส่งเสริมการเกษตร เข้าตรวจสอบในโครงการให้ชาวสวนยางประกอบอาชีพเสริม โดยอาชีพให้มีความชัดเจน ให้คุ้มทุนต่อรายได้ เกิดความมั่นใจให้เกิดอาชีพในระยะยาว