ตามที่กระทรวงคมนาคม ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่มิเตอร์ ทางกรมขนส่งทางบก จึงเรียกประชุมผู้ประกอบการรถแท็กซี่มิเตอร์และตัวแทนผู้ขับรถแท็กซี่ เพื่อทำความเข้าใจการปรับอัตราค่าโดยสาร ซึ่ง นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า การปรับค่าโดยสารเพื่อสะท้อนต้นทุนราคาที่แท้จริง เนื่องจากแท็กซี่ไม่ได้ปรับขึ้นราคาค่าโดยสารมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่ก่อนเข้าสู่กระบวนการปรับค่าโดยสาร รถแท็กซี่ทุกคันจะต้องผ่านการพัฒนาคุณภาพตัวรถและผู้ขับเพื่อรับเครื่องหมายการรับรองคุณภาพก่อน ทั้งความพร้อมของตัวรถ เช่น ยางรถ เข็มขัดนิรภัย ที่ปัดน้ำฝน ไฟหน้า รวมถึงความสะอาดของรถ ส่วนความพร้อมของตัวผู้ขับรถ ต้องมีใบอนุญาตถูกต้อง มีบัตรประจำตัว กิริยาวาจาต้องสุภาพ และที่สำคัญ ต้องไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร ซึ่งหากผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน แท็กซี่จะได้รับเครื่องหมายแสดงมาตรฐานเพื่อนำมาติดหน้ารถ เป็นเครื่องหมายยืนยันว่าผ่านการรับรองจากกรมขนส่งทางบกแล้ว
ส่วนการปรับขึ้นราคา ทางกระทรวงคมนาคม มอบนโยบายให้กรมขนส่งทางบก ปรับขึ้นราคาโดยสารเฉลี่ยร้อยละ 13 คิดจากภาวะเงินเฟ้อ แต่จะแบ่งการปรับขึ้นราคาออกเป็น2ระยะ ในระยะแรก จะขึ้นราคาประมาณร้อยละ 6-7 ภายในต้นเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งราคาค่าโดยสาร ระยะเริ่มต้นจะยังคงไว้ที่อัตราเดิม 35 บาท แต่จะปรับขึ้นในส่วนของ การคำนวณอัตราค่าโดยสาร ที่เปลี่ยนแปลงจากการคิดอัตราทุก 12 กิโลเมตร เหลือเป็นคิดค่าโดยสารทุก 10 กิโลเมตร ส่วนการปรับขึ้นราคาในระยะที่ 2 จะต้องประเมินจากในระยะแรกก่อน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ6เดือนหลังปรับขึ้นราคาในระยะแรก
และสำหรับค่าปรับจูนมิเตอร์ ผู้ขับรถแท็กซี่จะต้องรับภาระจ่ายค่าปรับจูนเอง แต่กรมขนส่งทางบกจะลดราคาให้ร้อยละ 50 เท่ากับว่าการปรับขึ้นราคา 2 ครั้ง ผู้ขับรถแท็กซี่จะเสียค่าปรับจูนมิเตอร์เท่ากับ 1 ครั้งในราคาปกติ
นอกจากนี้ อธิบดีกรมขนส่งทางบกยังกล่าวถึงนโยบายที่กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้ตรวจสอบจำนวนรถแท็กซี่ในประเทศไทยว่ามีจำนวนมากหรือน้อยเกินไปต่อความต้องการของประชาชนหรือไม่ โดยในปัจจุบันมีรถแท็กซี่ทั่วประเทศประมาณ 1 แสนคัน ซึ่งหลังการตรวจสอบทางกระทรวงคมนาคมและกรมขนส่งทางบกก็จะมีมาตราการดูแลในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
...ผสข.บุศรินทร์ วรสมิทธิ์