เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาลีต่างกำลังวิตกว่าอาจมีชาวมาลีหลายคนเสี่ยงต่อติดเชื้อไวรัสอีโบลาจากเด็กหญิงวัยเพียง 2 ขวบ ซึ่งเป็นชาวมาลีคนแรกที่ติดเชื้ออีโบลา หลังจากเพิ่งเดินทางกลับมาจากกินี หนึ่งในประเทศที่มีการแพร่ระบาด และเสียชีวิตในเวลาต่อมา องค์การอนามัยโลก ระบุว่า เด็กหญิงมีอาการของโรค รวมทั้งมีเลือดไหลที่จมูก ขณะที่ญาติพานั่งรถโดยสารเดินทางออกจากกินีกลับเข้ามาในมาลีผ่านกรุงบามาโก จนถึงเมืองคาเยส ทางตะวันตกของมาลี รวมระยะทางมากกว่า 1,000 กม. ก่อนจะเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลในเมืองคาเยส เมื่อวันพุธ จนทำให้เกิดความวิตกต่อการติดเชื้อในกลุ่มผู้ที่ร่วมเดินทางบนรถโดยสารใกล้ชิดกับเด็กหญิง รวมทั้งผู้ที่ใกล้ชิดอื่นๆ โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำการคัดแยกผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับเด็กหญิงคนดังกล่าวแล้วจำนวน 43 คน ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 10 คน ตามรายงานระบุว่า มารดาของเด็กหญิงเสียชีวิตในกินีเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ญาติจึงไปรับตัวเธอกลับมาอยู่มาลี สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในมาลี ทางการได้ออกประกาศรณรงค์ให้ประชาชนล้างมือด้วยสบู่
ด้านชาวมาลีในกรุงมากาโกเริ่มตื่นตระหนกต่อการแพร่ระบาด จนทำให้บางคนเปลี่ยนพฤติกรรมในการทักทาย โดยงดการจับมือกัน ขณะที่โรงแรมหลายแห่งได้จัดเจลต้านเชื้อแบคทีเรียไว้ให้บริการลูกค้า ขณะที่องค์การอนามัยโลกเตรียมส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปในมาลีเพิ่มเติม เพื่อเตรียมรับมือกับการแพร่ระบาดของอีโบลา
ส่วนที่สหรัฐ เมื่อพบว่า นพ.เคร็ก สเปนเซอร์ อายุ 33 ปี ที่เพิ่งกลับจากการรักษาผู้ป่วยอีโบลาในประเทศกินี และเดินทาง กลับนครนิวยอร์ก เมื่อกว่า 1 สัปดาห์ ติดเชื้ออีโบลา ขณะที่เจ้าหน้าที่เร่งปิดล้อมอพาร์ตเมนต์ของนพ.สเปนเซอร์ในย่านฮาร์เลม และเฝ้าระวังคนที่เคยสัมผัสใกล้ชิด โดยนำตัวคู่หมั้นไปเฝ้าดูอาการแล้ว นพ.สเปนเซอร์ เดินทางออกจากประเทศกินี และเดินทางกลับมายังนครนิวยอร์กเมื่อวันที่ 17 ต.ค. โดยขึ้นเครื่องมาจากกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม และเมื่อวันอังคาร เริ่มมีอาการเหนื่อยอ่อน มีไข้ และตามด้วยท้องร่วง
บิล เดอ บลา ซิโอ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ให้ความมั่นใจกับชาวนิวยอร์กว่า เชื้ออีโบลาไม่ได้ติดต่อกันง่ายๆ จะแพร่เชื้อผ่านทางของเหลวของผู้ป่วยเท่านั้น ซึ่งถ้าไม่ไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยก็จะไม่มีทางติดเชื้ออีโบลา