การประชุมเตรียมความพร้อมในการจ้างงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรของกรมชลประทาน หลังการสั่งงดทำนาปรังในช่วงฤดูแล้งตามมติของรัฐบาล นาย เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า รัฐบาลมีมติให้งดปลูกข้าวนาปรัง ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองใน 26 จังหวัด นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 - เมษายน 2558 ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากการขาดรายได้ และในปัจจุบันกรมชลประทานคาดว่าจะมีอีกหลายพื้นที่ที่จะได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง เช่น ในพื้นที่เขื่อนแม่กวง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนอุบลรัตน์ กรมชลประทานจึงสั่งการไปยังหน่วยงานต่างๆทั่วประเทศให้เตรียมความพร้อมในการจ้างงานเกษตรกรกรทั่วประเทศ มาประกอบอาชีพเสริมกับกรมชลประทาน เช่น การปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารชลประทาน ก่อสร้างอาคารชลประทาน และขุดลอกคูคลอง เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 โดยมีงบประมาณสำหรับการจ้างแรงงานทั่วประเทศกว่า 4,137 ล้านบาท และเชื่อว่ามาตรการนี้จะเป็นมาตรการหนึ่งที่เป็นทางเลือกเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้
ส่วนงบประมาณที่นำมาใช้ในการดำเนินการจ้างแรงงานภาคเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองมีงบประมาณกว่า 2,400ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบปกติประจำปีที่ใช้ในการซ่อมแซมและก่อสร้างระบบชลประทาน และงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อใช้จ้างแรงงานในลุ่มแม่น้ำทั้งสองที่อยู่ระหว่างรอรับการจัดสรรงบ สำหรับเงื่อนไขการจ้างงานจะพิจารณาเกษตรกรที่มีชื่อบัญชีในครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรหรือสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานก่อน หากแรงงานไม่เพียงพอจึงจะว่าจ้างเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเกษตรกรสามารถไปยื่นความประสงค์ได้ที่สำนักงานชลประทานในจังหวัด และคาดว่าจะมีผู้มายื่นมากกว่า 200,000 รายในพื้นที่สองลุ่มน้ำ โดยอัตราค่าจ้างเป็นไปตามค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทและการจ้างงานในแต่ละพื้นที่มีกำหนดระยะเวลาต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับลักษณะงานนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม การว่าจ้างแรงงานในการปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารชลประทานและการขุดลอกคูคลอง จะต้องคำนึงถึงทักษะเกษตรกรด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมงานต้องมีทักษะที่เพียงพอต่อเนื้องาน หากเกษตรกรไม่มีทักษะก็จะพิจารณาว่าจ้างในงานที่ใช้ฝีมือไม่มากคาดว่า การดำเนินงานทั้งหมดจะแล้วเสร็จ 31 ธันวาคมนี้ และจะต้องเป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่กำหนดไว้ นายเลิศวิโรจน์ ยังระบุถึงสถานการณ์น้ำในขณะนี้ว่า เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน โดยได้ประสานกับการประปานครหลวงเป็นระยะ แต่หากจะนำน้ำที่มีมาทำนาปรังคงจะไม่เพียงพอ เพราะปีนี้ฤดูฝนค่อนข้างแล้ง และกรมชลประทาน ได้คำนึงถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อบริหารจัดการน้ำช่วงการทำนาปีหน้าไว้แล้ว
ธีรวัฒน์