การติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่เขื่อนเจ้าพระยา จ. ชัยนาท นายทองเปลว ก้อนจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทุกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนต่างๆในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง โดยเขื่อนเจ้าพระยามีระดับน้ำปัจจุบันน้อยกว่าระดับที่กักเก็บน้ำได้ อยู่ 20 ซม. ซึ่งมีปริมาณน้อยและเป็นวิกฤตรอบ 15 ปี ดังนั้นรัฐบาลจึงมีมาตรการให้เกษตรกร งดทำนาปรังเนื่องจากการทำนาปรัง เป็นการเพาะปลูกที่ต้องใช้น้ำกว่า 1,100 ลูกบาศ์กเมตรต่อไร่ ต่างกับการปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อยกว่ามาก โดยหากเกษตรกรฝ่าฝืนทำนาปรังก็จะเสี่ยงต่อภาวะขาดทุน เนื่องจากจะไม่มีน้ำใช้ และเชื่อว่าการห้ามทำนาปรังจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำให้มีเพียงพอต่อด้านอื่นๆได้ ส่วนมาตรการการช่วยเหลือชาวเกษตรกรที่ห้ามทำนาปรัง รัฐบาลได้หามาตรการเสริม เช่น จ้างแรงงานเกษตรกรให้ประกอบอาชีพเสริมร่วมกับกรมชลประทาน หาอาชีพเสริมอื่นๆให้ชาวเกษตรกรทำเพิ่ม ขณะที่ มาตรการแก้ปัญหาภัยแล้ง รัฐบาลเตรียมทำฝนหลวง และเร่งหามาตรการเสริมอื่นๆเพื่อให้มีปริมาณน้ำมากที่สุด นายทองเปลว กล่าวว่า ปกติกรมชลประทาน จะอาศัยน้ำในเขื่อนหลักๆ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ในการดึงน้ำมาช่วยเหลือชาวเกษตรกรและไว้สำหรับการอุปโภคบริโภค แต่ในปีนี้ คงไม่สามารถดึงน้ำจากเขื่อนต่างๆได้ เพราะต่างมีปริมาณน้อยทั้งหมด แต่ยังเชื่อว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่จะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการทำอุตสาหกรรมในพื้นที่
ธีรวัฒน์