แนวทางการดูแลปัญหาหนี้นอกระบบ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผย สศค.อยู่ระหว่างการดำเนิน 2 แนวทาง คือ ร่างพ.ร.บ.ทวงหนี้อย่างเป็นธรรม ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระแรกแล้ว อยู่ระหว่างชั้นคณะกรรมาธิการปรับปรุงแก้ไขให้ครอบคลุมถึงการคุ้มครองผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบ ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ข่มขู่อย่างผิดกฎหมาย ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดกรณีเหมือน นางสังเวียน รักษาเพ็ชร์ ชาวนา จ.ลพบุรี ที่จุดไฟเผาตัวเองจากความเครียดปัญหาหนี้สินนอกระบบกว่า 1.5 ล้านบาท
นอกจากนี้ จะเสนอรัฐมนนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นชอบการจัดตั้งบริษัทสินเชื่อรายย่อย (บย.) เพื่อใช้ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย หรือสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยและไม่มีหลักประกันเข้าสู่ระบบสินเชื่อ แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยจะเป็นการปล่อยสินเชื่อให้เฉพาะกับประชาชนรายย่อย ผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อย ให้นำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ วงเงินรายละไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี โดยหาก รมว.คลัง เห็นชอบคาดว่าจะออกประกาศกระทรวงมีผลบังคับใช้ได้ภายในสิ้นปีนี้
โดยนาโนไฟแนนซ์สามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากเป็นการยกร่างประกาศกระทรวงการคลัง 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างประกาศเรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (ปว.58) และร่างประกาศเรื่อง การกำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืมเท่านั้นโดยผู้ประกอบการเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อ เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณภาครัฐ แต่ภาครัฐจะมีบทบาทกำกับดูแลให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมกับผู้รับบริกา
สำหรับ ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต จะต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 10 ล้านบาท มีสัดส่วนที่สูงกว่าเงินที่จัดสรรให้กับกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาทแต่ควรต่ำกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นเกณฑ์สำหรับการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและให้มีความระมัดระวังให้สินเชื่อ เพราะเป็นเงินลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจเอง โดยอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเฉลี่ย ร้อยละ 36 ต่อปีนั้น ผู้ประกอบธุรกิจได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สร้างภาระกับผู้กู้มากเกินไป เพราะอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวถือว่าต่ำกว่าอัตราสินเชื่อนอกระบบในปัจจุบัน
ภาพประกอบ/แฟ้มภาพ