จากสถานการณ์ฝุ่นละอองในกรุงเทพฯและปริมณฑล นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมแก้ปัญหาฝุ่นละอองว่า ที่ประชุมได้เสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 พื้นที่ กทม.และปริมณฑล โดยจะยกระดับความเข้มข้นของมาตรการ หากปริมาณฝุ่น PM2.5 เกิน 75-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ให้ผู้ว่าฯ กทม.ประกาศกำหนดให้เขตที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ หากสถานการณ์มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น มีค่าฝุ่นเกิน 100 มคก./ลบ.ม. ให้เรียกประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อพิจารณามาตรการแก้ไขผลกระทบ ก่อนนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อใช้อำนาจหรือข้อสั่งการเพื่อลดมลพิษทางอากาศให้ลดลงและไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน
ในวันนี้ กลุ่มกรีนพีซ จะแถลงข่าว “วิกฤตมลพิษ PM 2.5:ถึงเวลายกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศไทย" นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ค่าฝุ่นละอองที่มีการรายงานเป็นการประเมินที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และไม่มีแนวทางแก้ปัญหาที่จริงจัง โดยเฉพาะการตรวจควันดำ เมื่อสถานการณ์ฝุ่นผ่านไป เพราะสภาพอากาศเปลี่ยนไป มาตรการเหล่านี้ ก็หายไป จึงเสนอให้ประกาศให้กทม.เป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษ พร้อมมีระบบแจ้งเตือนล่วงหน้า มีการจำกัดจำนวนรถ ห้ามใช้รถยนต์ที่มีการใช้งานมานานกว่าสิบปี และสร้างระบบขนส่งรองรับการลดใช้รถส่วนตัว
นายศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ปัญหาคุณภาพอากาศของประเทศไทย คือ ไม่มีค่ามาตรฐานสำหรับสารโลหะหนักและจุลินทรีย์ มีเพียงแค่สารตะกั่วเพียงตัวเดียวซึ่งไม่เพียงพอ
ศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร หรือ TB-CERT แจ้งเตือนธนาคารสมาชิกให้เพิ่มความระมัดระวังกลุ่มมิจฉาชีพที่หลอกลวงข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต เพื่อหวังข้อมูลจากผู้ใช้บริการ หรือฟิชชิง ซึ่งกำลังแพร่ระบาดอย่างมาก นายกิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ประธานกรรมการ TB-CERT กล่าวว่า การหลอกลวงจะมาในรูปของการปลอมแปลงอีเมลหรือข้อความเพื่อหลอกให้ผู้เสียหายเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน หรือข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัญชีผู้ใช้ รหัสผ่าน หมายเลขบัตรเครดิต หมายเลข บัตรประจำตัวประชาชน
สถิติการหลอกลวงข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตจากทั่วโลก พบว่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไตรมาส 3 ปี 2561 มีเว็บไซต์หลอกลวงข้อมูลมากถึง 9 แสนเว็บไซต์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว หากเทียบกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ที่มีเว็บไซต์หลอกลวง 250,000 เว็บไซต์ ขณะที่ในประเทศไทยพบการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ซึ่งมีทั้งการโจรกรรมทางการเงิน และการสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียง การปล่อย มัลแวร์เพื่อทำให้ระบบเสียหาย
สำหรับแนวทางการป้องกันคือหากพบเปิดอีเมลและลิงค์ที่ไม่แน่ใจแหล่งที่มา ห้ามเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวผ่านการร้องขอทางอีเมล หากพบอีเมลที่น่าสงสัยว่าจะเป็นฟิชชิงที่เกี่ยวกับธนาคารให้ติดต่อธนาคารทันที และหากเปิดเผยรหัสแล้ว ให้ติดต่อไปยังธนาคารเพื่อขอเปลี่ยนรหัสทันที
อาชญากรรมวันนี้
นายเอกวิชช์ เกษเจริญ นักธุรกิจหนุ่มที่ถูกพนักงานธนาคารกรุงไทยปลอมลายเซ็นต์เบิกเงิน จนสูญเงินไปกว่า 8 ล้านบาท จะเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ตรวจสอบฝ่ายบริหารของธนาคารกรุงไทย สำนักงานใหญ่ กรณีที่พบว่าพยานหลักฐานชัดเจนแต่ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย สำนักงานใหญ่ กลับละเว้นไม่ดำเนินการใดๆ กับผู้กระทำความผิดและพนักงานธนาคาร กับมีการบิดเบือนประเด็นข่าว ทั้งขอให้ตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทยที่ไม่มีการตรวจสอบ
ส่วนที่สภ.ปากคลองรังสิต ภ.จว.ปทุมธานี ในวันนี้จะมีการแถลงผลการจับกุมผู้ต้องหา 2 คนที่ร่วมกันหลอกลวง และฆ่าชิงทรัพย์ นายนพดล อมรสุขสันต์ วินจักรยานยนต์รับจ้าง แล้วหลบหนีไป คดีนี้เหตุเกิดที่ บริเวณถนนใต้ทางด่วน (อุดรรัถยา) บริเวณใกล้กับ ศรีเปี่ยมสุขรีสอร์ต ม.1 ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.61
...