ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนิน พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แถลงภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) ที่มีพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธานการประชุม ว่า การประชุมศปก.ทบ.ในวันนี้เป็นการประชุมตามวาระปกติ แต่มีการประชุมผ่านระบบทางไกลวีทีซีร่วมกันระหว่างผบ.ทบ. และพล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมทั้งกอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า และผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ 3 แห่ง ประกอบด้วย หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส และหน่วยเฉพาะกิจยะลาเป็นพิเศษ เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีที่คนร้ายก่อเหตุเผาโรงเรียน 6 แห่งในพื้นที่จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 57 และศึกษาเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ได้บรรยายสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าจากการลงพื้นที่อ.ทุ่งยางแดงร่วมกับนายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อรับฟังปัญหาในพื้นที่ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการจัดทำทุ่งยางแดงโมเดล โดยจะติดตั้งระบบแจ้งสัญญาณเตือนภัยแบบรีโมทในทุกโรงเรียนในพื้นที่3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งจัดตั้งชุดอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนหมู่บ้าน (อปพร.) ขึ้นมาดูแล ส่วนชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านทำหน้าที่ดูแลโรงเรียน และมอบหมายให้ชุดคุ้มครองตำบลทำหน้าที่ดูแลเส้นทางหมู่บ้าน
พร้อมกันนี้ผบ.ทบ.ยังให้เจ้าหน้าที่เร่งก่อสร้างโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายให้สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเปิดเทอมในช่วงต้นเดือนพ.ย. หากไม่ทันเปิดภาคเรียนก็ให้เกลี่ยนักเรียนไปเรียนในโรงเรียนอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบ และใช้ห้องเรียนที่ไม่ถูกเผาแทน อีกทั้งจัดเต้นท์ช่วยเสริมเป็นสถานที่เรียนชั่วคราว ทั้งนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการจะอนุมัติงบประมาณเร่งก่อสร้างอาคารเรียนใหม่ภายใน 6 เดือนด้วย
ทั้งนี้ ผบ.ทบ. ได้สั่งการไว้ในที่ประชุม 6 ประเด็น ได้แก่ 1.เพิ่มปฏิบัติการในตอนกลางคืนมากขึ้น โดยจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว ชุดเฝ้าจรวจ ชุดสกัด และใช้อุปกรณ์พิเศษที่กองทัพจัดหาให้
2.จัดให้มีศูนย์สื่อสารระดับตำบล เพื่อรายงานสถานการณ์ตลอดเวลา และเป็นการทดสอบความพร้อมอยู่เสมอ
3.ให้ทบทวน ซักซ้อม การรักษาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรละเลยหลักพื้นฐานในการลาดตระเวน
4.การควบคุมพื้นที่และเส้นทางในพื้นที่ ขอให้ทบทวนว่าพื้นที่ใดล่อแหลมและส่งมอบให้กำลังประชาชนรับผิดชอบไปแล้ว หากมีความจำเป็นให้ส่งตำรวจตระเวนชายแดนและทหารเข้ามาช่วยเสริม
5.การตรวจค้นต้องไม่เหวี่ยงแห แต่ทำไปตามพยานหลักฐานที่มี
6.ไม่ต้องการให้เกิดเหตุซ้ำรอย และจะประเมินผลงานทุก 3 เดือน
ทั้งนี้หลังการประชุมศปก.ทบ.แล้ว ผบ.ทบ. เดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรายงานความคืบหน้าและผลการประชุมให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้รับทราบแล้ว จากนั้นผบ.ทบ.เดินทางเข้าทำงานที่กระทรวงกลาโหม
...