ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ลงมติวาระที่ 1 รับหลักการร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 164 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง กำหนดแปรญัตติ 7 วัน เวลาดำเนินงาน 60 วัน
ส่วนการประชุมช่วงแรก ที่ประชุมลงมติวาระที่ 1 รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เห็นด้วย 167 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจำนวน 15 คน กำหนดเวลาแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาดำเนินงาน 45 วัน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะตัวแทน ครม. ผู้เสนอร่างฯ ชี้แจงว่า ตามที่ประเทศไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายฯ และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ประกอบกับการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหายซึ่งทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องตราร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อกำหนดความผิด และสร้างมาตรการป้องกันปราบปราม เพื่อยกระดับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยให้ดีขึ้นและเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศที่มีด้วย
สาระสำคัญ คือ กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน คณะกรรมการฯ จะมีหน้าที่กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการปกปิดการควบคุมตัวบุคคล รวมทั้งมีหน้าที่กำหนดนโยบาย มาตรการป้องกันและปราบปรามการทรมานการกระทำและการลงโทษที่โหดร้าย เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการทำทรมานและทำให้บุคคลสูญหาย เช่น ผู้ใดกระทำผิดฐานกระทำทรมานจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุก 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 300,000-1,000,000 บาท เป็นต้น โดยให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลที่มีเขตอำนาจในคดีนี้ เป็นต้น
ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร