การเสวนา "เลือกตั้ง กุมภาฯ 62 ฟรีและแฟร์สำหรับใคร ?" รองศาสตราจารย์ ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปได้ 3 ทาง คือ สืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้อยู่ต่อไป, เปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย หรือไม่เกิดสิ่งใดขึ้น ส่วนถ้าเป็นการสืบทอดอำนาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นหรือไม่ ก็อยู่ที่การจัดการเลือกตั้ง ถ้าคสช. จัดการเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม แล้วชนะ ก็เชื่อว่าประชาชนจะยอมรับ แต่ถ้าไม่ใช่การเลือกตั้งที่ยุติธรรม แล้วคสช.ยังไปใช้เสียงจากวุฒิสภา(ส.ว.) มาสนับสนุน ก็อาจจะทำให้ประชาชนไม่ยอมรับ พร้อมมองว่ารัฐบาลควรผันตัวเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ แต่การที่ยังคงเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มและยังมีมาตรา 44 ล้วนส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการแข่งขัน ส่วนตัวยังต้องการให้ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคเสียงข้างมากที่ชนะการเลือกตั้ง เพื่อแสดงถึงการเคารพเสียงของประชาชนด้วย
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร. อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ(FFFE) ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความไม่ยุติธรรม 3 ประการ คือ รัฐบาลสร้างความได้เปรียบให้ตัวเอง, มีการตัดกำลังพรรคการเมือง และไม่อนุญาตให้คนนอกเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งผลให้การเลือกตั้งไร้ความชอบธรรม ทั้งจะทำให้ความขัดแย้งฝังรากลึกมากขึ้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปลี่ยนสถานะตัวเองเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ ห้ามออกนโยบายที่อาจส่งผลใดๆต่อการเลือกตั้ง และห้ามโยกย้ายข้าราชการ พร้อมขอให้ 4 รัฐมนตรีในรัฐบาลลาออกจากตำแหน่ง เช่นเดียวกับมาตรา 44 ก็ต้องยุติการใช้เช่นกัน
ขณะที่นาย ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า เป็นไปได้ยากที่การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีพรรคใดพรรคหนึ่งชนะจนจัดตั้งรัฐบาลเองได้ เพราะพรรคนั้นจะต้องได้คะแนนเสียงแบบถล่มทลายทุกเขตเลือกตั้ง ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ พร้อมมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะคล้ายกับสมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร และพล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่รัฐบาลทหารเข้ามามีบทบาทในการเลือกตั้ง และจากประวัติศาสตร์รัฐบาลก่อนการเลือกตั้งที่เป็นทหารมักจะใช้กลไกของรัฐเข้าแทรกแซงการจัดการเลือกตั้งเสมอ ส่วนตัวยังรู้สึกแปลกใจหากรัฐบาลจะปิดกั้นการสังเกตการณ์การเลือกตั้งจากองค์กรต่างประเทศ เพราะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้เรียนรู้บทเรียนจากอดีต
ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร