เวทีจุฬาเสวนาครั้งที่ 16 ในหัวข้อ "เลือกตั้ง กุมภาฯ 62 ฟรีและแฟร์สำหรับใคร ?" ที่จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะยังไม่ทำให้ประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเหมือนประเทศอินโดนีเซีย โดยจะเป็นเพียงการค้นหาจุดเริ่มต้นเท่านั้น เชื่อว่า ประเทศต้องผ่านการเลือกตั้งใหญ่อีกอย่างน้อย 2 ครั้งจึงจะก้าวสู่ประชาธิปไตยได้ ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.), สื่อมวลชน และโดยเฉพาะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะเป็นตัวละครสำคัญในการสร้างความยุติธรรม โปร่งใสในการเลือกตั้ง ด้านประชาชนจะเป็นผู้กำหนดผลการเลือกตั้งมากกว่าตัวระบบเลือกตั้งที่ออกแบบมา พร้อมยกตัวอย่างการเลือกตั้งล่าสุดของมาเลเซียที่รัฐบาลกำหนดวันเลือกตั้งทำให้ฝ่ายค้านเสียเปรียบและแจกเงินให้ประชาชนก่อนเลือกตั้งทุกทาง แต่สุดท้ายก็แพ้การเลือกตั้งด้วยเสียงประชาชน
นายประจักษ์ คาดว่า ถ้าการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งถึงร้อยละ 80-85 จะทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปจากทุกโพลที่คาดไว้ในตอนนี้ ส่วนหลังเลือกตั้งไม่ว่าพรรคใดจะได้เป็นรัฐบาลก็จะไม่มีทางอยู่ครบเทอม 4 ปี เนื่องจาก จะขาดเสถียรภาพ พร้อมมองว่ากกต.ต่างประเทศยังต้องการมาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในไทย เพราะเชื่อว่าไทยยังมีความหวังในการก้าวไปสู่ระบอบประชาธิปไตยด้วย
ส่วนนายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า บทบาทและหน้าที่ของกกต. ในการจัดการเลือกตั้งจะเป็นตัวตัดสินว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ยุติธรรมหรือไม่ เพราะกกต.มีอำนาจทั้งตัดสินผลเลือกตั้ง, แจกใบต่างๆให้ผู้สมัครส.ส. ซึ่งการตัดสินของกกต.จะส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล และเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง ดังนั้นถ้ากกต.ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมและถูกครอบงำ ก็น่าระวังว่าประชาชนจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งด้วย ทั้งมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่แฟร์กับประชาชน เพราะถ้าประชาชนชื่นชอบพรรคการเมืองใด แต่พรรคนั้นกลับไม่ส่งผู้สมัครส.ส.ลงในเขตนั้น ประชาชนก็จะไม่มีสิทธิเลือกผู้สมัครโดยปริยาย ซึ่งเป็นเสมือนการตัดสิทธิประชาชน พร้อมมองว่าจะมีแค่ 4 พรรคใหญ่เท่านั้นที่มีศักยภาพส่งผู้สมัครลงครบทุกเขตทั่วประเทศได้
ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร