การติดตามแผนบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยาตอนล่าง ในโครงการคลองระบายน้ำหลาก ชัยนาท-ป่าสัก นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ จังหวัดชัยนาท รับฟังบรรยายสรุปรายละเอียดงานสำรวจออกแบบโครงการคลองระบายน้ำหลาก ชัยนาท-ป่าสัก พร้อมกล่าวว่า กรมชลประทาน มีแนวทางการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ฝั่งตะวันออกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น
สำหรับโครงการนี้ เป็น 1 ใน 9 แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสำรวจ การออกแบบโครงการ คาดว่า จะเสร็จสิ้นในเดือนกันยายน 2562 หลังจากนั้น จะส่งรายงานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พิจารณาเห็นชอบ ก่อนเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอีกครั้ง เบื้องต้น การก่อสร้างโครงการนี้ เป็นการปรับปรุงคลองส่งน้ำใหม่จากคลองดินเป็นดาดคอนกรีต ระยะทาง 45 กิโลเมตร และขยายเพื่อใช้เป็นคลองระบายในฤดูน้ำหลาก ด้วยงบประมาณ 30,000 ล้านบาท หากเสร็จสิ้นจะสามารถส่งน้ำได้ 930 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากเดิม 130 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เกิดประโยชน์กับประชาชนทั้งการเดินเรือ การใช้น้ำเพื่อการเกษตร ที่จะมีคลองระบายน้ำควบคุม กักเก็บในช่วงฤดูฝน และปล่อยน้ำช่วงหน้าแล้ง ให้ประชาชนนำไปใช้เพื่อการเพาะปลูกพืช ซึ่งประชาชนก็จะต้องมีการวางแผน การปลูกพืชให้เหมาะสมด้วย
ขณะที่ แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวมมีทั้งสิ้น 9 แผน ครอบคลุมพื้นที่ระยะทาง 133 กิโลเมตร ตั้งแต่ประตูระบายน้ำมโนรมย์ จ.ชัยนาท สิ้นสุดที่เขื่อนพระราม 6 จ.พระนครศรีอยุธยา หากการก่อสร้างเสร็จสิ้นทั้ง 133 กิโลเมตร จะสามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 20-30 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยระยะเวลาที่สอดคล้องกับแผนบริหารจัดการน้ำ 20 ปี โดยส่วนใหญ่ใช้พื้นที่ชลประทานร้อยละ 90 ซึ่งจะไม่กระทบกับพื้นที่ของประชาชนในบริเวณใกล้เคียงอย่างแน่นอน
สำหรับแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประกอบด้วย การปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง คลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ได้แก่ คลองชัยนาท-ป่าสัก คลองป่าสัก-อ่าวไทย คลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่ 3 การปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา การบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน และพื้นที่รับน้ำนอง
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม