การล่องเรือสำรวจแม่น้ำยวม อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ตามที่กรมชลประทาน วางแผนจะนำพื้นที่นี้มาสร้างเป็นสถานีสูบน้ำบ้านสบเงา เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำยวมต่อไปยังอุโมงค์ที่มีความยาวกว่า 61.5 กิโลเมตร โดยอุโมงค์มีปลายทางอยู่ที่เขื่อนภูมิพล ในโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล การล่องเรือวันนี้ พบว่า กระแสน้ำแม่น้ำยวมค่อนข้างเชี่ยวและบางส่วนไหลตัดผ่านพื้นที่ป่า ตลอดรอบข้างถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ในระดับหนึ่ง สำหรับจุดที่จะทำเป็นสถานีสูบน้ำ เจ้าหน้าที่ได้นำธงแดงมาปักแสดงเขตไว้ที่ขอบแม่น้ำยวม โดยด้านบนของพื้นที่นี้มีบ้านเรือนประชาชนอาศัยอยู่หลายหลังคาเรือน
นายพิเชษฐ์ รัตนปราสาทกุล กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา(ด้านออกแบบและคำนวณ) กรมชลประทาน ยอมรับว่า การก่อสร้างสถานีสูบน้ำ อาจกระทบกับบ้านเรือนประชาชนประมาณ 4-5 หลังคาเรือน และต้องรื้อพื้นที่ป่าออกไปบางส่วน แต่ยืนยันว่า กรมชลประทาน ตระหนักถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการ และได้ส่งเจ้าหน้าที่มาเก็บข้อมูลแล้วว่าใครได้รับผลกระทบบ้าง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลวิเคราะห์แก้ไขต่อไปถ้าโครงการเกิดขึ้น พร้อมรับว่าต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ดี
ส่วนสถานีสูบน้ำจะมีเครื่องสูบน้ำ 6 ตัว แต่ละตัวสูบน้ำได้ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะสูบน้ำจากแม่น้ำยวมไปกักเก็บไว้ที่อาคารพักน้ำ เพื่อรอปล่อยน้ำไปยังอุโมงค์ที่จะส่งไปยังเขื่อนภูมิพลต่อไป สถานีสูบน้ำ จะตั้งอยู่ห่างจากเขื่อนน้ำยวม ประมาณ 22 กิโลเมตร โดยเขื่อนน้ำยวม ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้เช่นกัน โดยตัวเขื่อนจะทำหน้าที่บริหารจัดการระดับน้ำแม่น้ำยวมให้มีประสิทธิภาพและคงไว้ตามสภาพแวดล้อมเดิม คาดว่าเขื่อนจะเก็บกักน้ำได้ประมาณ 68 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับโครงการนี้ ได้จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) เสร็จแล้วและอยู่ระหว่างนำเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา และอยู่ระหว่างการออกแบบโครงการที่ใช้งบประมาณ 90 ล้านบาท คาดว่าอีก 300 วันจึงจะแล้วเสร็จ โดยเมื่อออกแบบแล้วเสร็จ เชื่อว่า จะทำให้โครงการทั้งหมดเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่วนการทำอุโมงค์จะใช้วิธีการเจาะระเบิดควบคู่ไปกับการใช้เครื่องเจาะ
นายพิเชษฐ์ ยังบอกว่า แผนการส่งน้ำไปเขื่อนภูมิพล จะส่งน้ำไปเฉพาะช่วงเดือนมิถุนายน-มกราคมเท่านั้น โดยจะส่งน้ำไปทั้งสิ้น 1,800 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร จากน้ำที่มีประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงขอให้เข้าใจว่าประชาชนในพื้นที่จะไม่ขาดแคลนน้ำแน่นอน ส่วนน้ำที่เหลือเป็นไปได้ว่าจะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งถ้าทำได้ก็เชื่อว่าจะครอบคลุมการใช้ไฟของประชาชนโดยรอบ แต่ต้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร