การตรวจติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานการจ้าง สำรวจ ออกแบบ ปันน้ำแม่ยวม เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า การดำเนินการปันน้ำจากแม่น้ำยวมลงสู่เขื่อนภูมิพล เพื่อให้น้ำในเขื่อนภูมิพล มีมากขึ้น หลังจากปัจจุบันเขื่อนภูมิพล ที่มีระดับกักเก็บน้ำสูงสุดที่ 13,000 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำท่าที่ใช้การได้ ไหลเข้าเพียง 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากระดับน้ำที่ใช้การได้ 9,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างกว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่สามารถนำน้ำมาเติมในเขื่อนได้ ทางรัฐบาลจึงหาทางนำน้ำมาเติม เพื่อสร้างแหล่งน้ำอุปโภค บริโภคให้มากขึ้น โดยจะนำน้ำจากแม่น้ำยวม จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 1,795 ล้านลูกบาศก์เมตร มาเติมในส่วนที่เขื่อนภูมิพลขาดหายไปผ่านการทำเขื่อนแม่น้ำยวมไว้กักน้ำแล้วจัดตั้งสถานีสูบน้ำเพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำยวมเข้าสู่สถานีต่อไปยังบ่อพักน้ำแล้วปล่อยไปตามแรงโน้มของโลกเข้าสู่อุโมงค์ส่งน้ำที่มีความยาวกว่า 61.5 กิโลเมตร ซึ่งปลายอุโมงค์จะส่งไปถึงเขื่อนภูมิพลพอดี ทั้งนี้การปล่อยน้ำดังกล่าวจะใช้ในช่วงฤดูฝนเป็นหลัก
สำหรับปัจจุบันการดำเนินการผ่านขั้นตอนการศึกษาที่ใช้เวลานานกว่า 2 ปี มาแล้วเสร็จในปีนี้ จากนี้จะเป็นขั้นตอนออกแบบ ซึ่งต้องรับฟังความเห็นประชาชนและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2562 ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการขอใช้พื้นที่ป่าและพื้นที่ของประชาชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน-1 ปี น่าจะแล้วเสร็จช่วงปี 2563
จากนั้นจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเห็นชอบ คาดว่าภายในปี 2564-2565 น่าจะเปิดตัวโครงการได้ เบื้องต้นตั้งงบประมาณดำเนินการไว้ 80,000 ล้านบาท และใช้งบจากรัฐบาลทั้งหมด แต่เป็นไปได้ที่อาจจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนด้วย ซึ่งต้องศึกษาเงื่อนไขอีกครั้ง เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะช่วยให้ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่มีน้ำใช้ในการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ยังไม่ได้ประเมินว่าจะสร้างประโยชน์ให้ประชาชนได้กี่ครัวเรือน หรือ จะมีพื้นที่ได้ประโยชน์กี่ล้านไร่ โดยต้องรอการออกแบบแล้วเสร็จก่อน
ส่วนในเขื่อนหลักๆที่ใช้ในการเพาะปลูกข้าวและสินค้าเกษตร รวมทั้งการอุปโภคบริโภคของประชาชนในปีหน้า ทางนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำไว้ให้ประชาชนแล้ว โดยเขื่อนหลักๆมีน้ำอยู่ประมาณร้อยละ 50-60 ซึ่งยืนยันว่าเพียงพอต่อการใช้ของเกษตรกรและประชาชน ไม่มีปัญหาแน่ เช่นเดียวกับภาคตะวันออก ก็มีน้ำใช้เพียงพอต่อการเพาะปลูกเช่นกัน ยกเว้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ ที่อาจมีปัญหาบ้างเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ลงไปทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว
ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร