การเตรียมความพร้อมจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากลของประเทศไทย
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช ) เปิดเผยว่าในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกของอนุสัญญาสหประชาชาติ เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาทุจริต โดยได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งสำนักงานป.ป.ช. สำนักงาน ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นและภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (ประเทศไทย) 2 กิจกรรม คือ กิจกรรมเดิน-วิ่ง เพื่อรณรงค์ส่งเสริมคุณธรรม ราษฎร์-รัฐ ร่วมใจไม่เอาคอร์รัปชั่น ครั้งที่ 1 ภายใต้แนวคิด GOOD GUY RUN 2018 ในวันที่ 2 ธันวาคม เวลา 4.00- 8.00 น. ที่สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยกิจกรรมจัดขึ้นเป็นปีแรกเพื่อต้องการนำหลักส่งเสริมสุขภาพร่วมบูรณาการกับการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตด้วยการแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ส่งเสริมความดีร่วมต้านการทุจริต ส่วนอีกกิจกรรมวันที่ 7 ธันวาคม เวลา 07.00-12.00 น. เป็นการประกาศเจตนารมณ์ในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล ที่อิมแพคเมืองทองธานี ในส่วนภูมิภาคก็จะมีการจัดพร้อมกันทุกจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับสำนักงานป.ป.ช.ประจำจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ด้านพันตำรวจโท วันนพ สมจินตนากุล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท.รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ท.กล่าวว่า ค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมาทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่า 3 หรือ 30 แต่ต่ำกว่า 4 หรือ 40 มาโดยตลอด เมื่อพิจารณาค่าดัชนีการรับรู้ทุจริตในปี 2560 ประเทศไทยได้ 37 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 ซึ่งดีกว่าปีก่อน 2 คะแนน ทำให้ขยับลำดับจากที่ 101 ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 96 จาก 180 ประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในส่วนของประเทศไทยได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตโดยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3 ภายใต้ยุทธศาสตร์ 6 ข้อ คือ สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต, ยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านทุจริต, สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย, พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก, ปฏิรูปกลไกและกระบวนการปราบปรามการทุจริต, ยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยด้านดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) ระบุว่า ในฐานะเป็นองค์กรเอกชนที่ต้องการเป็นพลังสังคม ร่วมขับเคลื่อนให้การคอรัปชั่นเป็นสิ่งที่คนไทยและสังคมไทยยอมรับไม่ได้ ซึ่งเชื่อว่าความดีและความซื่อสัตย์สามารถสร้างได้โดยเริ่มจากตัวเอง จะเห็นได้จากการสำรวจดัชนีสถานการณ์คอรัปชั่นไทยของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเมื่อเดือนมิถุนายน ประเด็นที่น่าสนใจพบว่าคนไทยไม่สามารถทนทานกับการทุจริต และคนไทยอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริตสูงขึ้น ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างป.ป.ช.และป.ป.ท.ตระหนักถึงความตื่นตัวของคนไทย จึงได้มีการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อให้การทำงานตรวจสอบรวดเร็วขึ้น ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ลงโทษผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็ว หรือ ให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกกล่าวหาได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่คนไทยไม่ทนต่อการทุจริตมากขึ้น ภาครัฐก็ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลมีการปกปิดชื่อผู้ร้องเรียนตามที่ร้องขอ มีมาตรการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูล มีการให้รางวัลสินบนแก่ผู้ให้ข้อมูลเมื่อสามารถยริบทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน และที่สำคัญรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย กำหนดให้ภาครัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวหรือมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน ชี้เบาะแสการทุจริตและกำหนดให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงอย่างสะดวก ถือว่าเป็นผลดีต่อการตรวจสอบการใช้อำนาจของภาครัฐนำไปสู่ความโปร่งใสในการทำงาน