อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์แถลง กัญชาของกลางผลิตยาไม่ได้ พบสารปนเปื้อน

23 พฤศจิกายน 2561, 16:51น.


ผลการตรวจวิเคราะห์กัญชาของกลาง  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวผลการตรวจวิเคราะห์กัญชาของกลางเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ว่า ขั้นตอนการผลิตสารสกัดจากกัญชาหรือการผลิตเป็นยา วัตถุดิบจะต้องมีคุณภาพ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จึงได้นำวัตถุของกลางที่ได้รับอนุญาตจากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มอบให้กรมฯ ตรวจสอบ  ผลการตรวจพบว่า ของกลางที่ อภ.ส่งมาเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2561 รวม 3 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนยาฆ่าเชื้อราในตัวอย่างกัญชาแห้งทั้ง 3 ตัวอย่าง แต่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืช คือ คลอร์ไพริฟอส และ ไซเปอร์เมทริน ทั้ง 3 ตัวอย่าง รวมถึงตรวจพบโลหะหนัก ทั้งตะกั่ว ปรอท สารหนู และแคดเมียม ทั้ง 3 ตัวอย่างด้วย ซึ่งผลการตรวจสอบถือว่า กัญชาของกลางไม่มีคุณภาพเพียงพอที่จะนำมาใช้ผลิตเป็นยารักษาผู้ป่วยได้ เพราะมีสารฆ่าแมลงที่เป็นพิษต่อร่างกาย ส่วนคนที่ลักลอบนำมาสูบเองก็ถือว่า นอกจากผิดกฎหมายอยู่แล้ว ยังอาจได้รับสารพิษเช่นกัน



ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา อภ. กล่าวว่า กัญชาของกลางล็อตแรกจาก บช.ปส. จำนวน 100 กิโลกรัมนั้น ไม่สามารถเอามาใช้ทำเป็นยาเอามาใช้ศึกษาทางคลินิกได้ แต่สามารถเอาไปศึกษาในประเด็นอื่นที่ไม่เกี่ยวกับผู้ป่วยบริโภค เช่น ศึกษาสารหลักที่ออกฤทธิ์เป็นยาเท่าไร สำหรับแนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วน มี 2 แนวทาง เพื่อให้น้ำมันหยดใต้ลิ้นที่ประชาชนรอคอย คือ 1.ติดต่อ บช.ปส. เพื่อขอกัญชาของกลางล็อตใหม่ ซึ่งได้ประสานไปแล้วราว 300 กิโลกรัม ก็จะให้กรมวิทยาศาสตร์ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยก่อน และ 2.เร่งรัดกระบวนการปลูกกัญชาให้เร็วที่สุด โดยจะทำคู่ขนานกัน เพื่อแก้ไขปัญหาวัตถุดิบที่จะนำมาวิจัยพัฒนาต่อไป



ส่วนจะเริ่มปลูกกัญชาได้เมื่อไร ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่าในวันที่ 30 พ.ย.นี้ อภ.จะเชิญ อย.มาดูสถานที่ใหม่ที่จะปลูกกัญชา เพื่อให้คำแนะนำว่าจะดำเนินการมาตรการความปลอดภัยอย่างไร ซึ่งตั้งเป้าว่าจะพยายามปลูกให้ได้ภายใน ม.ค. - ก.พ. 2562 โดยพันธุ์ที่จะนำมาปลูกจะเป็นพันธุ์ผสม ซึ่งจะมีรอบในการเก็บเกี่ยวสั้น คือ 3 เดือน และต้นมีขนาดเตี้ย ซึ่งสาเหตุที่ยังไม่ใช้พันธุ์ไทย เพราะพันธุ์ไทยมีขนาดสูง 2-3 เมตร ซึ่งสถานที่ใหม่ไม่เอื้ออำนวย และต้องใช้เวลา 4-5 เดือนถึงจะเก็บเกี่ยวได้ อย่างไรก็ตาม ก็จะมีการศึกษาเพื่อปรับปรุงพันธุ์ให้ได้พันธุ์ของเราเองด้วย



สำหรับแผนที่จะได้น้ำมันกัญชามาใช้จะเลื่อนออกไปหรือไม่ ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า เดิม อภ.กำหนดแผนว่า จะต้องได้น้ำมันกัญชามาใช้ให้ทัน พ.ค. 2562 แต่มีการปรับแผนให้รวดเร็วขึ้น โดย ม.ค. 2562 จะต้องให้ได้ประมาณ 4 พันขวด และเพิ่มเติมการผลิตขึ้นในช่วง ก.พ. - เม.ย. 2562 แต่เมื่อเกิดเหตุสะดุดว่า กำหนดการที่วางไว้จะต้องเร็วขึ้นภายใน ม.ค. 2562 อาจจะไม่ทัน แต่ยืนยันว่า เป้าหมายเดิมคือ พ.ค. 2562 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะต้องมีน้ำมันกัญชาออกมาใช้ได้ตามเป้าเดิม คือ ไม่น้อยกว่า 18,000 ขวด ซึ่งจะสอดรับพอดีกับร่างกฎหมายที่จะออกมาให้สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ในมนุษย์ได้  ด้านคำขอสิทธิบัตรกัญชาที่ยังเป็นปัญหา ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบ คือ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาแถลงว่า ขณะนี้ยังไม่มีบริษัทใดจดสิทธิบัตรกัญชาได้ กระบวนการรายละเอียดกรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างการแก้ไข ซึ่งช่วงนี้ อภ.ก็จะเดินหน้าวิจัยต่อไป



 

ข่าวทั้งหมด

X