การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยการประชุมที่น่าสนใจคือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่..) พ.ศ… วาระแรก ตามที่สมาชิก สนช. เสนอเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 สาระสำคัญคือ การปลดล็อกให้สามารถใช้กัญชาเป็นยารักษาโรคได้ ให้สามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออก ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ทางการแพทย์ นายสมชาย แสวงการ ได้แถลงสาระสำคัญและประโยชน์ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กำหนดให้สามารถขออนุญาต ผลิต นำเข้าหรือส่งออก ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งประกอบด้วยกัญชา และกระท่อม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์สามารถนำไปใช้ในการรักษาโรคเฉพาะตัวได้ เช่นเดียวกับยาเสพติดให้โทษประเภท2 แบบฝิ่น เท่านั้น ไม่ได้รวมถึงการใช้เสพเพื่อสันทนาการ และให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นผู้กำหนดเขตพื้นที่ทดลองเพาะปลูกกัญชา และเสพกัญชา เพื่อการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ในปริมาณที่กำหนดโดยไม่ถือว่ามีความผิดกฎหมาย ซึ่งการกำหนดพื้นที่ดังกล่าวจะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกามีมาตรการตรวจสอบควบคุม
สำหรับผู้ที่จะสามารถอนุญาตครอบครองกัญชาได้นั้น ประกอบด้วย กระทรวง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สภากาชาดไทย องค์กรเภสัชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์สาขาต่างๆ ทั้ง ทันตกรรม สัตวแพทย์ แพทย์แผนไทย เป็นต้น โดยผู้ขออนุญาตจะต้องไม่เคยต้องโทษตามกฎหมายยาเสพติดมาก่อน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้พิจารณาอนุญาตตามความเห็นของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชน ตามมาตรา 77 วรรค 2 ทั้งจากเว็บไซต์ ที่มีผู้เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ถึงร้อยละ 99.03 และเปิดเวทีรับฟังความเห็น รวมถึงได้ส่งให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาแล้ว โดยไม่ได้มีการเสนอร่างกฎหมายมาประกบ แต่มีข้อสังเกต ความเห็นจากกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการกฤษฎีกา และ ป.ป.ส.
ด้านสมาชิกสนช. อาทิ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ต่างอภิปรายสนับสนุน เพราะเมื่อพิจารณาแล้ว พบว่าโทษของกัญชา มีน้อยกว่า เหล้าและบุหรี่ ที่ไม่ได้กำหนดเป็นยาเสพติด ขณะที่บางส่วนที่ไม่เห็นด้วย เป็นเพราะไม่ทราบถึงสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่แท้จริง แต่ก็ฝากข้อสังเกตว่า ให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ในปริมาณที่เหมาะสม ระบุถึงปริมาณให้ชัดเจน
ที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 145 เสียง พร้อมตั้งกรรมาธิการ 29 คน กำหนดแปรญัตติ 7 วัน โดยพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน
แฟ้มภาพ